ส่องกองทัพเรือสหรัฐ กับโครงการพัฒนาเรือดำน้ำหุ่นยนต์ AI

Share

Loading

เรียกได้ว่าเทคโนโลยี AI ถือเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตในทุกแง่มุม แม้แต่ในด้านการทหาร ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในระยะหลังมานี้เทคโนโลยี AI ได้มีบทบาทสำคัญต่อภารกิจของกองทัพมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหนึ่งในโครงการด้าน AI ที่น่าจับตามอง นั้นก็คือการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อใช้ควบคุมเรือดำน้ำ

แม้ว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการที่ยังไม่มีเปิดเผยข้อมูลมากนัก เนื่องจากเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ แต่จากการเปิดเผยข้อมูลบางส่วนนั้น ระบุว่า โครงการนี้มีชื่อย่อว่า CLAWS ซึ่งกองทัพเรือของสหรัฐได้ทำความร่วมมือกับบริษัทเอกชนผู้พัฒนาเทคโนโลยีอาวุธรายใหญ่ของประเทศ ในการพัฒนาเรื่อดำน้ำที่ควบคุมด้วย AI โดยมีเป้าหมายที่จะให้ระบบทั้งหมดสามารถทำงานด้วย AI โดยไม่ต้องมีมนุษย์เป็นผู้ควบคุม

ซึ่งการพัฒนาเรือดำน้ำที่ว่านี้จะเป็นเรือดำน้ำที่มีการติดตั้งตอร์ปิโดประมาณ 12 ลูก ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากเรือดำน้ำหุ่นยนต์ Echo Voyager นอกจากนี้กองทัพเรืออเมริกายังมีแผนที่จะพัฒนาเรือดำน้ำหุ่นยนต์ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมชื่อ XLUUVs โดยจะมีการติดตั้งตอร์ปิโดทำลายใต้น้ำในจำนวนที่มากขึ้น รวมทั้งยังสามารถที่จะปฏิบัติภารกิจอยู่ใต้ท้องมหาสมุทรได้นานหลายเดือน

ซึ่งรูปแบบของการทำงานนั้น เรือดำน้ำจะถูกควบคุมด้วย AI โดยมนุษย์เป็นเพียงผู้ป้อนคำสั่งพื้นฐานของภารกิจเท่านั้น ส่วนในเรื่องของการเดินทาง การควบคุมทิศทาง และเรื่องของการตัดสินใจต่อสู้ด้วยอาวุธ จะเป็นการประมวลผลด้วยระบบ AI เอง ซึ่งการทำงานต่าง ๆ จะอ้างอิงระบบนำทางจากดาวเทียม และตรวจสอบด้วยเซนเซอร์ในขณะที่เรืออยู่ใต้มหาสมุทร

ซึ่งหากเรามองดูภาพรวมของกองทัพอเมริกา เราจะพบว่าอเมริกาถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยเทคโนโลยีทางการทหารเป็นอย่างมาก โดยในปีที่แล้วได้มีโครงการพัฒนาเทคโนโลยี CCS หรือ Common Control System ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ควบคุมระบบอาวุธแบบอัตโนมัติได้ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เรือดำน้ำ เรือเร็วโจมตีบนผิวน้ำ รวมไปถึงเฮลิคอปเตอร์

แต่สำหรับเรือดำน้ำที่ควบคุมด้วย AI นี้ แม้ว่าการทำงานต่าง ๆ จะถูกควบคุมด้วย AI ทั้งหมด แต่กองทัพเรืออเมริกาก็ยังคงต้องให้ความสำคัญในแง่ความปลอดภัยของภารกิจ โดยจะต้องมีการเชื่อมระบบการสื่อสารขั้นสูง และการระบุตำแหน่ง ซึ่งจะต้องส่งข้อมูลกลับมายังฐานบัญชาการที่มีมนุษย์ดูแลอยู่ เพื่อป้องกันการถูกแทรกแซงและการโจมตีทางไซเบอร์

เรียบเรียงโดย Security Systems Magazine

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.news.thaipbs.or.th

เครดิตรูปภาพ

www.globaldefensecorp.com/tag/echo-voyager/
www.lockheedmartin.com/en-us/products/orca-extra-large-unmanned-underwater-vehicle-xluuv.html