วิเคราะห์การใช้เทคโนโลยี “ไบโอเมทริกซ์” แทนบัตรประชาชนในสิงคโปร์

Share

Loading

เทคโนโลยีการตรวจสอบข้อมูลทางชีวภาพ หรือที่เรียกกันว่า “ไบโอเมทริกซ์” นั้นถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะสามารถปูพื้นฐานของประเทศไปสู่ยุค “เศรษฐกิจดิจิทัล” ทว่าในทางปฏิบัติ หลาย ๆ ประเทศยังคงมีความกังวลในเรื่องของตัวระบบว่ามีความมั่นคงปลอดภัยเพียงใดในการที่จะนำมาใช้ในงานธุรกรรมต่าง ๆ และยังมีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกด้านสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนอีกด้วย

แต่เมื่อไม่นานมานี้ BBC เปิดเผยว่าได้เริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์มาใช้ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการของเอกชนและภาครัฐได้อย่างปลอดภัยบนฐานของเทคโนโลยีตรวจสอบข้อมูลทางชีวภาพ และอาจจะพัฒนาไปถึงขั้นทดแทนการใช้บัตรประชาชนในอนาคตโดยเริ่มต้นจากการทดลองใช้งานในด้านการเงินการธนาคารก่อน

และแม้จะเป็นแค่การทดลอง แต่ในระยะยาวคาดว่าจะมีการขยายการใช้งานไปทั่วประเทศ

นายแอนดรูว์ บัด ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร ไอพรูฟ ซึ่งเป็นบริษัทของสหราชอาณาจักรที่จัดหาเทคโนโลยีนี้ กล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เทคโนโลยีจะต้องมีความฉลาดพอที่จะจำแนกได้ว่า สิ่งที่นำเอามายืนยันตัวตนนั้นคือบุคคลจริง ๆ ไม่ใช่แค่รูปภาพ หรือวิดีโอที่ตัดต่อมา นอกจากนี้เทคโนโลยีจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับ SingPass ซึ่งเป็นระบบการยืนยันตัวตนที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐบาลได้

“นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ระบบยืนยันใบหน้าด้วยการจัดเก็บข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตแบบคลาวด์ เพื่อให้การยืนยันตัวตนดิจิทัลตามแผนงานแห่งชาติเป็นไปอย่างปลอดภัย” นายบัดกล่าว

ยืนยันใบหน้า VS จดจำใบหน้า

สำหรับทั้งเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าและการยืนยันใบหน้านั้นแม้ว่าจะมีความคล้ายกันในแง่มุมของการใช้วิธีสแกนใบหน้าเพื่อจับคู่กับรูปภาพที่มีอยู่ในฐานข้อมูลเพื่อระบุตัวตน แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันก็คือ

  • สำหรับเทคโนโลยีการยืนยันใบหน้านั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้งานเสียก่อน จึงจะสามารถทำธุรกรรมต่อได้ เช่น การปลดล็อกโทรศัพท์มือถือ หรือเข้าแอปพลิเคชันธนาคารบนสมาร์ทโฟน
  • ส่วนเทคโนโลยีการจดจำใบหน้านั้น อาจจะเป็นการตรวจสแกนใบหน้าของผู้คนในสถานที่ต่าง ๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า และหากตรวจเจอใบหน้าของอาชญากรที่มีหมายจับ ก็จะมีการแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการจับกุม

ซึ่งหากมองในส่วนของความรู้สึกด้านสิทธิส่วนบุคคล จะพบว่าเทคโนโลยีการยืนยันใบหน้านั้นจะได้รับความไว้วางใจมากกว่าเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า

โดยในหลาย ๆ ประเทศ เช่น อเมริกา แคนนาดา ต่างก็ได้มีการใช้เทคโนโลยียืนยันใบหน้ากันแล้ว ซึ่งเราเห็นได้จากทั้งแอปเปิลและกูเกิล ที่ได้ใช้ระบบยืนยันใบหน้าสำหรับการทำธุรกรรมบนสมาร์ทโฟน ส่วนในจีนก็มีบริษัทฯ อย่างอาลีบาบาที่ได้ใช้ระบบยืนยันใบหน้าบนแอปพลิเคชัน สไมล์ทูเพย์

เทคโนโลยียืนยันใบหน้ากับระบบบัตรประชาชน

ในหน่วยงานรัฐบาลเองก็ได้เริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยียืนยันใบหน้าไปใช้ในหลาย ๆ ประเทศ แต่การเชื่อมเทคโนโลยีนี้เข้ากับระบบบัตรประจำตัวประชาชน อาจจะยังไม่แพร่หลายมากนัก ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับใช้ให้เหมาะสมกับระบบการบริหารข้อมูลส่วนบุคคลภายในประเทศนั้น ๆ เช่น ที่อเมริกาประชาชนส่วนใหญ่มักจะใช้ใบขับขี่ที่รัฐบาลออกให้ในการยืนยันตัวตน

ส่วนในฝั่งของประเทศจีนเองก็ยังไม่มีนโยบายในการนำเอาเทคโนโลยียืนยันใบหน้ามาใช้ร่วมกับบัตรประชาชน แต่ในปีที่ผ่านมาได้มีการออกกฎให้ผู้ที่ซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ต้องทำการสแกนใบหน้าเพื่อตรวจสอบความถูกต้องควบคู่กับบัตรประชาชนด้วย

นโยบายของสิงคโปร์

สำหรับในประเทศสิงคโปร์เองอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเริ่มต้นจากการใช้งานในบางสาขาของสำนักงานสรรพากร รวมถึงธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ (Development Bank of Singapore : DBS) ซึ่งมีการจัดทำระบบเปิดบัญชีแบบออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีการยืนยันใบหน้า รวมถึงมีแนวโน้มที่จะนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในพื้นที่ควบคุมความปลอดภัย ตลอดไปจนถึงการระบุตัวตนก่อนเข้าห้องสอบของนักเรียน

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจอื่น ๆ ยังสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้ด้วย หากมีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนดของรัฐบาล โดยนาย ก็อก เคว็ก ซิน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการระบุตัวตนดิจิทัลแห่งชาติของ กอฟเทคสิงคโปร์ กล่าวว่า ข้อกำหนดเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดก็คือในการนำเอาเทคโนโลยียืนยันใบหน้าไปใช้นี้จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นก่อน และไม่มีข้อจำกัดว่าจะนำเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร ตราบใดที่ยังตั้งอยู่บนข้อบังคับของรัฐบาล

ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วเราจะเห็นได้ว่าโลกยุคใหม่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และที่สำคัญในระยะของการเปลี่ยนผ่านคือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ซึ่งผู้ผลักดันเทคโนโลยีจะต้องมีความรอบคอบ และต้องตอบโจทย์ความคาดหวังของประชาชนให้ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของความสะดวกสบายอีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของสวัสดิภาพความมั่นคงปลอดภัย และสิทธิส่วนบุคคล ที่จะต้องยืนอยู่บนเส้นแบ่งอันพอดิบพอดี เพื่อให้ประชาชนยอมรับได้ ในขณะที่เทคโนโลยีก็ยังสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างสูงสุด

เรียบเรียงโดย Security Systems Magazine

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.bbc.com

เครดิตรูปภาพ
www.pexels.com