เจาะแนวคิด ตั้ง Academy ไม่ใช่แค่พัฒนาคนในองค์กร แต่ช่วยปั้นบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของชาติ

Share

Loading

แนวคิดการ ตั้ง Academy ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ทว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลายองค์กร หลายบริษัท ต่างมีแนวคิดที่จะตั้งสถาบันการศึกษา หรือสถาบันการอบรม ขึ้น ด้วยจุดประสงค์หลักเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีคุณสมบัติและทักษะตอบสนองความต้องการขององค์กร มาถึงวันนี้ แนวคิดนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพื่อสร้างบุคลากรให้ตอบโจทย์องค์กรเท่านั้น ทว่า ได้รับการนำมาขยายผล โดยมุ่งหวังผลลัพธ์ที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายนั่นเอง

ที่ผ่านมา มีต้นแบบการ ตั้ง Academy มากมาย ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดประสิทธิผลในการผลิตและพัฒนาบุคลากรตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมของประเทศมากขึ้น รวมถึงล่าสุด ยังมีความริเริ่มร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและสถาบันการศึกษา จัดตั้งสถาบัน Academy สถาบันบ่มเพาะบุคลากรด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งทุกโมเดลที่เราจะหยิบมาบอกเล่านี้ เป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดีว่า แนวคิดในการ ตั้ง Academy สามารถนำมาปรับใช้ เพื่อน่าสนใจมากทีเดียว

EGAT Academy ต้นแบบ ตั้ง Academy ในองค์กรรัฐวิสาหกิจ

ไม่ใช่แค่มีภารกิจในการผลิตไฟฟ้าเพื่อคนไทยเท่านั้น ทว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ยังเดินหน้าพัฒนาองค์กรตามความเชื่อมั่นว่า “ความรู้” จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันระบบไฟฟ้าของประเทศให้เกิดความมั่นคงได้ กฟผ. จึงไม่เพียงแต่มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรในองค์การเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยด้วย

ด้วยการจัดหลักสูตร “EGAT Academy” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ผ่านการวางเนื้อหาหลักสูตรเฉพาะของ กฟผ. ที่ผ่านการปรับปรุงและพัฒนา ตามแนวโน้มของตลาดพลังงานไฟฟ้าไทยและทั่วโลกอย่างเท่าทันสถานการณ์

แนวความคิดในการก่อตั้ง EGAT Academy เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 โดยทีมงาน EGAT Academy ได้มีโอกาสร่วมโครงการ EGAT Young@Heart และได้นำเสนอโครงการดังกล่าว ให้กับคณะกรรมการ กฟผ. ซึ่งได้รับความเห็นชอบและได้รับการคัดเลือก จนนำมาสู่การทดลองทำ Pilot Project ที่มีการจัดทำหลักสูตรเป็น 2 หลักสูตร ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

จนกระทั่งมาถึงปี 2562 ก็ได้จัดอบรมเพิ่มอีก 5 หลักสูตร พร้อมทั้งยังได้จัดการอบรมภายในองค์กร (In-house Training) ให้กับบุคลากรของบริษัทจากต่างประเทศด้วย

ณัฐกฤตา เจตน์กุลธร หัวหน้าคณะทำงานพัฒนาธุรกิจ EGAT Academy เล่าว่า คนภายนอกคิดว่า กฟผ. มีหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้ว กฟผ. ยังดูแลด้านระบบส่งและระบบไฟฟ้าของทั้งประเทศด้วย

ดังนั้น EGAT Academy จึงเป็นหน่วยงานภายใต้ กฟผ. ที่จะช่วยพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเมื่อบุคลากรมีความรู้ความสามารถมากขึ้น ก็จะนำความรู้ดังกล่าวไปพัฒนาโรงไฟฟ้าต่างๆ ให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อระบบไฟฟ้าของประเทศไทยในภาพรวม

ที่ผ่านมา หลักสูตรของ กฟผ. ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากบุคคลภายนอก จนมีฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น จากที่เคยคิดไว้ว่ามีเพียงเฉพาะบุคลากรด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้า เช่น วิศวกร หรือ ช่าง เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีหลากหลายอาชีพที่สนใจเข้ารับการอบรม ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษา ทนายความ หรือพนักงานธนาคาร เป็นต้น

เพราะพวกเขาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวข้องในการประสานงานด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าเช่นกัน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดว่า กฟผ. เอง ก็ได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย

และล่าสุด EGAT Academy ได้ก้าวสู่ความท้าทายไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการเปิดอบรมภายในองค์กรให้กับบริษัทจากประเทศจีนใน สปป.ลาว ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีไม่แพ้กัน จึงถือเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าสำหรับก้าวใหม่ของ EGAT Academy ด้วย

สร้าง ‘คน’ ไทย หัวใจดิจิทัล ด้วย AIS Academy

เพื่อเตรียมองค์กรให้พร้อมรับพายุลูกใหญ่ที่ชื่อว่า Digital Disruption องค์กรที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำทางอย่าง AIS ก็นำเอาแนวทางการ ตั้ง Academy มาใช้ในการตระเตรียม บุคลากรดิจิทัล ในรูปแบบที่องค์กรคาดหวังเช่นกัน

AIS Academy คือเครื่องมือสำคัญที่ AIS จัดตั้งขึ้น เพื่อพิชิตภารกิจนี้ โดยที่มาของการตั้ง AIS Academy ที่มาของการจัดตั้ง AIS Academy มาจาก สมชัย เลิศสุทธิวงค์ CEO- AIS ได้ประกาศพลิกโฉมธุรกิจด้วยแนวคิดดิจิทัล (Digital Transformation) ภายในองค์กร

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

เพราะเมื่อพูดถึงคำว่าดิจิทัล คนมักจะนึกถึงเรื่องของฮาร์ดแวร์มากกว่าซอฟต์แวร์ อย่างการลงทุนในแอปพลิเคชันหรือในเครื่องมือต่างๆ แต่ทาง AIS มองว่า กลยุทธ์ที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงคือเรื่อง ‘คน’ เนื่องจาก ถ้ามีเครื่องมือที่ล้ำหน้าแต่คนไม่พร้อมก็ไม่มีประโยชน์

การจัดตั้งทีมงานพิชิตภารกิจการพัฒนา “คน” จึงเกิดขึ้น โดยเริ่มจากการ Disrupt แผนกทรัพยากรบุคคล หรือ Human Resources (HR) ก่อน เพราะถือเป็นแผนกที่มีความสำคัญยิ่งต่อองค์กรและต่อการทำ Transformation จากนั้น ในปีต่อมา เราได้เปลี่ยนการอบรมพนักงานแบบเก่าที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงานด้านการศึกษา จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง AIS Academy ขึ้นมา

นอกเหนือจากการตั้ง Academy เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรแล้ว การต่อยอดสู่โครงการ “AIS ACADEMY for THAIs” ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทยจึงเกิดขึ้น

ด้วยมองเห็นว่า การ Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ต้องไม่ทำแค่ในบริบทขององค์กรเพียงอย่างเดียว แต่คนที่เข้าถึงองค์ความรู้นี้ ต้องเป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือภาครัฐด้วย AIS จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการนำองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมการสื่อสารล้ำสมัยนี้ไปเผยแพร่สู่สาธารณชนด้วย

ยกตัวอย่าง โครงการที่ตั้งใจทำขึ้นเพื่อขยายขีดความสามารถของ “คนไทย” AIS ได้นำองค์ความรู้ทั้งจาก AIS และพาร์ทเนอร์ระดับนานาชาติ ในหลากหลายอุตสาหกรรมมาร่วมแบ่งปันผ่านรูปแบบงานสัมมนา โดยจัดงานสัมมนานานาชาติ ACADEMY for THAIs ขึ้นเป็นครั้งแรก ในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2561

โดยในงานนี้เปิดกว้างให้คนทั่วไปได้เข้าร่วม ภายในงานได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Disruption ที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มาร่วมแชร์แนวคิด การก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคยุคดิจิทัลที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนในโลกธุรกิจ

เปิดโปรไฟล์ใหม่ ตั้ง Academy ปั้นบุคลากรรุ่นใหม่ รองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ใน EEC

ที่ผ่านมา ได้เกิดความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถาบันการศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหลายโปรเจ็กต์ ทว่า กับโปรเจ็กต์ล่าสุด ได้ระบุเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน นั่นคือ “การปั้นบุคลากรรุ่นใหม่ รองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ New S-curve ใน EEC”

โดย Academy หรือสถาบันบ่มเพาะบุคลากรด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่ตั้งขึ้นนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์เครื่องจักรขนาดใหญ่ และให้คำปรึกษาด้านการดูแลและซ่อมบำรุงครบวงจร และ สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก)

ความร่วมมือในครั้งนี้ ครอบคลุมถึงการมาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์เพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายมากยิ่งขึ้นด้วย

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้บอกเล่าถึงโปรเจ็กต์การตั้ง Academy ร่วมกับ มทร.ตะวันออก ในครั้งนี้ว่า

“บริษัทฯ เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย เพื่อรองรับการเติบโตของโครงการ EEC ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนา ไทยแลนด์ 4.0 ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาจะต้องมาร่วมมือกัน เร่งพัฒนาทักษะและความรู้แก่นักศึกษา สร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติอย่างแท้จริง”

โดยที่ผ่านมา ทาง ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น มีความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ ซึ่ง คุณกัลยาณี ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากประสบการณ์การทำธุรกิจของเธอว่า

“ในตอนนี้ เทคโนโลยี AGV (Automated Guided Vehicle) หรือรถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ โดยใช้แถบแม่เหล็ก วิชั่น หรือเลเซอร์ เป็นตัวบอกทิศทางให้กับรถเวลาเคลื่อนที่ ได้ต่อยอดสู่การพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์อัจฉริยะแบบ Automated Mobile Robots หรือ AMR ในภาคอุตสาหกรรม สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดหมายปลายทางได้โดยใช้เทคโนโลยีเลเซอร์สแกนเนอร์ และระบบ GPS เพื่อกำหนดพิกัด ใช้ระบบ 5G เป็นตัวเชื่อมสัญญาณ ซึ่งในอนาคต คาดว่านวัตกรรมนี้จะเข้ามาพลิกโฉมรูปแบบและกระบวนการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในที่สุด”

ด้าน อาจารย์ทัศพันธุ์ สุวรรณทัต หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ มทร.ตะวันออก ได้กล่าวถึงโมเดลความร่วมมือครั้งสำคัญนี้เพิ่มเติม ในฐานะ สถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่ EEC ว่า

“ที่ผ่านมา เรามั่นใจว่าเมื่อศาสตร์ด้านเมคคาทรอนิกส์ มาประสานกับเทคโนโลยีแห่งยุคอย่าง หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จึงทำให้หลักสูตรของเราสามารถผลิตบุคลากรที่สถานประกอบการเกือบทุกประเภทมีความต้องการ กอปรกับจุดเด่นของหลักสูตรนี้ ที่เราจัดการเรียนการสอนร่วมกับทางภาคอุตสาหกรรมมาตลอด จนสามารถพูดได้ว่าที่นี่มีการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ”

ส่วนเนื้อหาการเรียนการสอนในหลักสูตร อาจารย์ทัศพันธุ์ได้บอกเล่าถึงความร่วมมือกับ ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ในการร่วมกันปรับหลักสูตรว่า

“หลักสูตรที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นเน้นการสอนทักษะหลัก 3 ด้าน คือ ด้านเครื่องกล ผู้เรียนจะต้องเขียนแบบเครื่องกลได้ สามารถออกแบบเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ และดีไซน์เครื่องจักรขนาดเล็กได้รวมถึงเครื่องจักรระบบอัตโนมัติได้ด้วยซอฟแวร์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้และทำงานได้จากซอฟแวร์ที่แตกต่าง เมื่อเรียนจบแล้วจะสามารถทำงานได้ทันทีในภาคอุตสาหกรรม”

โดยจะประกอบด้วยหลักสูตรดังต่อไปนี้

  • 1. Programmable Logic Controller (PLC)
  • 2. 3D Camera Vision System
  • 3. Robot control
  • 4. Autonomous Mobile Robots (AMR)
  • 5. Automated Storage and Retrieval Systems (AS/RS)
  • 6. Big data and Artificial Intelligence

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.salika.co/2020/08/06/establish-academy-idea-training-right-man-to-right-job/