EEC HDC กับ 7 ความเคลื่อนไหว: คลื่นใหม่ที่ปรับสร้างการพัฒนาบุคลากรใน EEC (ตอนแรก)

Share

Loading

พื้นที่การลงทุนในประเทศที่เกิดขึ้นในนาม เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีเป้าหมายสำคัญคือ ปรับสร้างความก้าวหน้าให้ประเทศไทยก้าวทันโลก โดยใช้ ‘เทคโนโลยี’ เป็นพลังสร้างความเปลี่ยนแปลง เป็นแก่นแกนเสริมสร้างความก้าวหน้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนในโลกยุคใหม่ ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่ทั้งโลกต้องปรับตัว! ไม่อาจย่ำต่อด้วยวิธีการเดิมๆ แบบที่เป็นมาอีกต่อไป

ในอดีต ระบบเศรษฐกิจการค้าและสังคมทุนนิยม เต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ การบริโภคทรัพยากรอย่างบ้าคลั่ง การทำลายสิ่งแวดล้อม และการพึ่งพาคนกลางในทุกความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างมากมายเกินจำเป็น!

ผลก็คือ ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรม การค้า และโครงสร้างเศรษฐกิจติดอยู่ในแพลตฟอร์มเก่าๆ ไม่อาจปรับตัวยกระดับความรู้ ทักษะ ไม่สามารถสร้างความเสมอภาคเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืนได้!

โดยนัยนี้ ยุค 4.0 จึงเป็นเป้าหมายการปรับตัวของเศรษฐกิจสังคมไทย เพื่อเคลื่อนออกจากโลกใบเดิมสู่อุตสาหกรรม การค้า และโครงสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ที่พึ่งพานวัตกรรม ความรู้ และเทคโนโลยียุคใหม่ ที่ช่วยลดต้นทุน ลดการบริโภคทรัพยากร ปรับสร้างการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างโอกาสความเสมอภาคเท่าเทียมและความก้าวหน้าเท่าทันโลก!

การผลิตและบริการ ตลอดจนมาตรฐานการบริโภคในยุค 4.0 ต่างไปจากอุตสาหกรรมยุคบุกเบิกในช่วงที่ไทยเริ่มพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมตามแผนการ Eastern Seaboard ที่ผ่านมาอย่างมาก

ด้วยการพัฒนาประเทศรูปแบบใหม่ คือ EEC ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และ ระยอง นั้น ได้ปรับโครงสร้าง เปลี่ยนภูมิทัศน์ในการพัฒนาสู่ทิศทางใหม่อย่างชัดเจน

ความเชื่อมโยงของ ‘การลงทุนจากต่างชาติ’ กับ ‘การพัฒนาทักษะคนไทย’

การมี พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ขึ้นมานั้น มุ่งเสริมสร้างความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และมุ่งสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนที่มีความรู้และความก้าวหน้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย พร้อมกับ 1) ความรู้ 2) เทคโนโลยี 3) ระบบการบริหารจัดการ และ 4) ทักษะด้านการผลิต ด้วยการถ่ายโอน-เชื่อมโยงความก้าวหน้าสู่อุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาทั้งในภาคการผลิตและบริการของเราให้ก้าวทันโลก

การถ่ายโยงความรู้จากหลายประเทศในโลกสู่ไทย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศซึ่งเป็นต้นแบบที่ดีในด้านการปรับตัว เช่น จีน ที่ใช้เวลาเพียงกว่า 2 ทศวรรษ ทำให้ความยากจนของผู้คนราว 800 ล้าน ปรับตัวเข้าสู่โลกยุคใหม่ได้ด้วยแผนงาน การดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยลงทุนและใช้ เทคโนโลยี เข้ากำกับพัฒนาภาคส่วนต่างๆ พร้อมสร้างความโปร่งใส จนกระทั่งจีนก้าวทันโลกและกลายเป็นผู้นำโลกในปัจจุบัน

ประเทศไทยไม่อาจใช้ระบบการผลิต การบริการ และเทคโนโลยียุคอีสเทิร์นซีบอร์ด มาขับเคลื่อนสร้างความก้าวหน้าอีกต่อไป และจำเป็นจะต้องปรับปรุงการจัดการในภาคการผลิต การบริการ และโครงสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ การเปลี่ยนผ่าน จึงสำคัญและต้องต่อยอดปรับสร้างหลายโมเดลขึ้นใหม่อย่างมีนัยสำคัญ

การเปลี่ยนผ่านประเทศที่กล่าวถึงนั้น ทำผ่าน อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ EEC กำหนดไว้ 10 อุตสาหกรรมหลัก โดยการเชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลกให้เข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาประเทศ ซึ่งทางรัฐบาลได้จัดปรับพื้นฐานและภูมิทัศน์ใหม่เพื่อการพัฒนายุค 4.0 ไว้รองรับแล้ว

การดำเนินงานของ EEC ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาลเปิดให้เอกชนเข้าร่วมพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21 และมีความคืบหน้าตามแผนที่วางไว้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การลงทุนด้านรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ที่ได้เอกชนผู้ลงทุนและดำเนินการสร้างอยู่ในปัจจุบัน การสร้างสนามบินอู่ตะเภา มหานครการบินที่มีผู้ลงทุนจากภาคเอกชนซึ่งทำสัญญากันแล้ว การลงทุนท่าเรือขนาดใหญ่ 3 ท่า ได้แก่ ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือท่องเที่ยวจุกเสม็ด ที่สัตหีบ และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ให้เป็นระบบ automation ก็ได้ผู้ลงทุนและเริ่มดำเนินสร้างแล้ว

นอกเหนือจากที่กล่าวถึง รัฐบาลยังปรับโครงสร้างสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ

1. การปรับสร้างทางหลวงส่วนเชื่อมต่อและขยายเพื่อรองรับการเติบโตของเมือง

2. การจัดปรับผังเมืองให้สอดคล้องกับความเป็นจริงปัจจุบัน

3. การวางผังการพัฒนา Smart City

4. ระบบเชื่อมต่อการคมนาคม ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ในท้องถิ่น และการต่อขยายสู่ภูมิภาคอื่น

5. การสร้างระบบรถไฟรางคู่ ที่จะเป็นระบบโลจิสติกส์ทางบก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและมีความปลอดภัยมั่นคงในการคมนาคมขนส่งมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็มีการปรับระบบระเบียบเพื่อให้แนวทางการลงทุนสอดคล้องกับความก้าวหน้าและผลประโยชน์ของประเทศ ด้วยสิทธิประโยชน์ที่ช่วยให้ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้โดยไม่เสียเปรียบ รวมถึงการจัดปรับระเบียบ กฎกติกาในพื้นที่ EEC ให้การดำเนินงานทำได้อย่างคล่องตัว รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ดำเนินการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอย่างเข้มข้น จนทำให้พื้นที่การลงทุน EEC เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก

มิติสำคัญอีกมิติหนึ่งที่ทำมาตลอดคือ การพัฒนาบุคลากร โดยปรับสร้างความรู้ ทักษะ และการศึกษา ให้มีทิศทางที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ซึ่ง EEC ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ทั้งยังแต่งตั้ง คณะทำงานประสานงานการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC หรือ EEC HDC ขึ้นเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้กำกับของ EEC เพื่อรับผิดชอบการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งด้านจำนวนบุคลากรและทักษะความรู้ที่ต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อเดินหน้า 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ให้สามารถขยายผลและเชื่อมต่อการพัฒนาประเทศเข้ากับนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ต่อไป

อัปเดต 7 ความเคลื่อนไหว คลื่นใหม่เพื่อพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC โดย EEC HDC

งานด้านการพัฒนาบุคลากรของ EEC HDC ผ่านมาแล้วประมาณ 18 เดือน โดยคณะทำงานฯ ได้เริ่มงานเมื่อเดือนมีนาคม 2562 การขับเคลื่อนด้านการพัฒนาบุคลากรก็เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เห็นได้จาก 7 กระแสความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ

  • ความเคลื่อนไหวที่ 1) ปฏิบัติการปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาสู่ ‘DEMAND DRIVEN’ หรือ ‘การศึกษาตามอุปสงค์’ ตามความต้องการจริงของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนใน EEC
  • ความเคลื่อนไหวที่ 2) การปรับเปลี่ยนสู่การทำงานแบบ ‘เครือข่ายความร่วมมือ’ เชื่อมประสานการพัฒนาบุคลากรอย่างรอบด้าน
  • ความเคลื่อนไหวที่ 3) การผลิตสร้างบุคลากรในระบบการศึกษา EEC Model แบบ A และ B เพื่อตอบโจทย์ที่แม่นตรงในการพัฒนาประเทศ
  • ความเคลื่อนไหวที่ 4) เชื่อมประสานกับ ‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชน’ เพื่อช่วยยกระดับความรู้ความเข้าใจและความเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนให้แก่ผู้คนในท้องถิ่น
  • ความเคลื่อนไหวที่ 5) สร้าง ‘เวทีกลาง’ เพื่อประสานความร่วมมือและปรึกษาหารือ ระหว่างผู้ประกอบการ-ภาคอุตสาหกรรม-สถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตบุคลากร ทั้งเพื่อการพัฒนาบุคลากรและการปรับสร้างการศึกษายุคใหม่
  • ความเคลื่อนไหวที่ 6) จัดทำ ‘ความร่วมมือทั้งระบบแบบยกพื้นที่-ยกนิคม’ เพื่อการผลิตบุคลากรร่วมกันระหว่างนิคมอุตสาหกรรมกับสถาบันการศึกษา
  • ความเคลื่อนไหวที่ 7) ‘พัฒนาความรู้ความเข้าใจสู่สังคมไทยในวงกว้าง’ ด้วยการเชื่อมประสานผ่านกระทรวงอุดมศึกษาฯ และสํานักงานการอาชีวศึกษา ด้วยเป้าหมายที่จะส่งเสริมการปรับสร้างทิศทางการศึกษาใหม่ให้แก่ประเทศ

ทั้ง 7 กระแสความเคลื่อนไหวในพื้นที่การทำงานเพื่อพัฒนาบุคลากรที่เกิดขึ้นนี้ จะเผยรายละเอียดต่อในบทความหน้า เพื่อให้เข้าใจรูปแบบความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นรูปธรรม

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.salika.co/2020/07/27/7-movement-of-human-development-by-eec-hdc/