3 โอเปอเรเตอร์นำ 5G ร่วมพัฒนา “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช”

Share

Loading

แพทย์ศิริราช ร่วมกับ วิศวะมหิดล ผนึกกำลัง 3 โอเปอเรเตอร์ True AIS และ TOT นำ 5G ร่วมพัฒนา “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช”

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การผนึกกำลังของมหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งพัฒนาเพื่อสังคมส่วนรวมให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึง  การรักษาในระยะฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งชนิดตีบและแตกอย่างรวดเร็ว ด้วย หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) เปรียบเสมือนการนำโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน เพื่อลดระยะเวลาในการเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตันทำให้อัตราการเสียชีวิตและพิการลดลงได้ โดยจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีอาการตาตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง แบบเบ็ดเสร็จในรถ ขณะนี้รถรุ่นใหม่ของ “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020” จำนวน 3 คัน อยู่ระหว่างการผลิต กำหนดแล้วเสร็จของรถคันที่ 2 ประมาณเดือนสิงหาคม 2563 และคันที่ 3 และ 4 จะแล้วเสร็จภายในปี 2563

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า   หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาความก้าวหน้าทางสมรรถนะและเทคโนโลยี ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากสองปีที่เปิดบริการแก่ประชาชนสามารถรองรับการรักษาช่วยผู้ป่วย 287 ราย ตอบโจทย์การแพทย์ดิจิทัลเฮลท์แคร์และเฮลท์เทค

สำหรับปี 2563 นี้ จะเป็นรถรุ่นใหม่ “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020” จำนวน 3 คัน โดยได้ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างรถ ระบบวิศวกรรมต่างๆ และระบบการสื่อสารภายในรถที่ก้าวหน้าทันสมัยด้วยเทคโนโลยี  มีระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่เชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารภายในรถกับโครงข่ายสื่อสาร 5G

ทั้งนี้เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร 5G ที่มีเสถียรภาพและความเร็วสูง ผสานกับการออกแบบตัวรถและระบบ ช่วยเรื่องการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การส่งภาพ CT Scan สมองและสัญญาณชีพของผู้ป่วยที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเสมือนกับผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมองจากระยะไกล ด้วยข้อมูลที่เป็นเรียลไทม์และมีความละเอียดสูงจะส่งผลให้การตัดสินใจวางแผน และทำการรักษาของบุคคลากรการแพทย์สามารถกระทำได้ทันทีและแม่นยำก่อนผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล เพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงของประชาชนคนไทย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.hfocus.org/content/2020/05/19420