Telemedicine Platforms จัดตรวจCOVID-19ฟรี ลดภาระคนล้นโรงพยาบาล

Share

Loading

สตาร์ทอัพ เฮลธ์เทค เร่งผนึกกำลังส่งแคมเปญ ตรวจCOVID-19ฟรีผ่านแพลตฟอร์มเทเลเมดิซีน เผยผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด พร้อมช่วยคัดกรองเบื้องต้นลดภาระคนไข้แน่นโรงพยาบาล เสริม มาตรการ Social Distancingพญ.พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Chiiwii เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ที่มีเรื่องโรคCOVID-19 เข้ามาทำให้เทรนด์ของผู้ใช้งาน Chiiwii ในช่วงนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า หรือวันละกว่า 100 คน เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ เพราะประชาชนเริ่มหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหรือการเดินทางไปโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มาใช้บริการในขณะนี้คือความกังวลเรื่องโควิด ซึ่ง ชีวีได้ทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรคและกระทรวงดีอีเอสเปิดให้คำปรึกษาและคัดกรองคนไข้ฟรี เพื่อประเมินกลุ่มเสี่ยงก่อนที่จะไปโรงพยาบาล โดยหากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงทางชีวีสามารถส่งตัวไปตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลได้ทันทีไม่ต้องรอคิว ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาทำแบบฟอร์มนี้ได้

“ปัจจุบันชีวีมีแพทย์อาสาสมัครเข้ามาเพิ่มอีกกว่า 100 คน จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 100 คน เดิมทีเราช่วยคนที่ไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ส่วนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มันมีความต้องการที่มากขึ้น แต่แพทย์หรือสถานพยาบาลไม่เพียงพอที่จะรองรับอย่างชัดเจน ทำให้คนเห็นความสำคัญของเทเลเมดิซีนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรามีศักยภาพที่จะรองรับคนกลุ่มนี้ได้ รวมถึงการทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อเตรียมตัวรับมือในช่วงระยะกลาง 6-12 เดือนข้างหน้าที่อาจยังต้องใช้ Social Distancing ไปอีกสักพัก”

ด้านนพ.อนุชา พาน้อย ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง แพลตฟอร์ม Doctor A to Z กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสCOVID-19 นั้นส่งผลให้มีผู้เข้ามาใช้บริการ Doctor A to Z เพิ่มขึ้นกว่า 100% ภายใน 1 สัปดาห์มีผู้เข้ามาใช้กว่า 2,000 คน โดยพบว่าส่วนใหญ่ผู้ใช้ที่เข้ามารับคำปรึกษาน้อยมากที่มีความจำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เพราะสาเหตุหลักๆ คือความกลัวและกังวล จากความไม่เข้าใจการติดต่อของโรคโควิด อย่างไรก็ตาม Doctor A to Z ได้มีการมอบโค้ดให้กับแต่ละองค์กรโดยเป็นโค้ดฟรี สำหรับการปรึกษาเกี่ยวกับCOVID-19 ล่าสุดแพลตฟอร์ม Doctor A to Z ได้มีแพทย์อาสาเข้ามาให้บริการเพิ่มกว่า 100 คนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นส่วนนึงที่ทำให้ได้รับความร่วมมือจากองค์กรหลายภาคส่วนที่เริ่มให้ความสำคัญในการให้บริการแพทย์ทางไกลที่เดิมถูกมองว่าไม่ถูกต้อง แต่ตอนนี้ทางโรงพยาบาลก็ได้มีการนำแพลตฟอร์มเราไปใช้งานกฎหมายต่างๆ ที่เปิดกว้างขึ้น การรักษาทางไกลที่อิสระมากขึ้นก็น่าจะส่งผลดีในอนาคตทำให้คนเริ่มเปิดใจรับเทคโนโลยีเทเลเมดิซีนเพิ่มขึ้น”

ขณะที่ ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Ooca ปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสCOVID-19 นั้นสร้างความกังวลและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิต เห็นได้จากภาพรวมจำนวนคำขอเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตที่เติบโตขึ้น 2 เท่า และมีการบำบัดหรือการพูดคุยทางด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น 16-25% เช่นเดียวกับทาง Ooca ที่มีจำนวนการนัดหมายเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเติบโตมากกว่าเท่าตัวโดยมีการนัดหมายแพทย์มากกว่า 700 ครั้ง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้แคมเปญของ Ooca คือการมอบส่วนลด 15% ให้สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเพื่อรับคำปรึกษาและเยียวยาทางด้านจิตใจ“จะเห็นว่าสถานการณ์นี้เป็นประเด็นที่ต่างชาติให้ความสำคัญมากเพราะสิ่งที่ทุกคนจะได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่การป่วยด้วยโรคโควิด แต่ผู้ที่ต้องกักตัวก็จะทำให้เกิดความเครียดหรือภาวะซึมเศร้ามีผลกระทบต่ออารมณ์ไม่ว่าจะเป็นคนที่ตรวจพบเชื้อหรือไม่พบเชื้อก็ตาม เพราะเมื่อถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่เดิมๆ พฤติกรรมการใช้ชีวิตเดิมมีการเปลี่ยนแปลง อาจทำให้เกิดความเครียด ซึ่งในบางกรณีอาจต้องมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.thansettakij.com/content/tech/427375?utm_source=sub_category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=innovation