NECTEC พัฒนาเครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ สแกนใบหน้ารู้ค่าอุณหภูมิ 0.1 วินาที

Share

Loading

ทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ (เนคเทค – สวทช.) พัฒนา “มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์” (μTherm FaceSense) หรือ ระบบตรวจวัดอุณหภูมิใบหน้าแบบไม่สัมผัสทีละหลายบุคคลและการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายการสื่อสาร ซึ่งต่อยอดผนวกจุดแข็งและปรับปรุงข้อจำกัดของมิวเทอร์มในอดีต ด้วยความสนับสนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

โดย “มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์” รุ่นใหม่ล่าสุดนี้ได้ต่อยอดจากทรัพย์สินทางปัญญาเดิมของทีมวิจัย และผนวกระบบคัดกรองอุณหภูมิบุคคลโดยไม่สัมผัสที่สามารถจับตำแหน่งของบุคคลแบบอัตโนมัติ (Automatic Human Detection) เชื่อมต่อกับระบบการสื่อสารและเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ IoT สามารถวัดอุณหภูมิร่างกายผ่านการแสกนใบหน้าครั้งละหลายคนแบบอัตโนมัติได้อย่างแม่นยำ

“มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์” สามารถตรวจวัดอุณหภูมิจากใบหน้าบุคคลระยะห่างสูงสุดถึง 1.5 เมตร ภายในเวลา 0.1 วินาที โดยค่าอุณหภูมิจะแสดงเป็นตัวเลขบนจอ หากอุณหภูมิเกินค่าที่กำหนดตัวเลขจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงและส่งเสียงเตือน พร้อมทั้งสามารถตั้งค่าชดเชยอุณหภูมิ (Offset Temperature) และระยะการตรวจวัดที่เปลี่ยนไป อันเป็นสิทธิบัตรของทีมวิจัยโฟโทนิกส์ (PHT) เนคเทค – สวทช. เพื่อชดเชยผลจากอุณหภูมิ ความชื้น และ ระยะห่างของบุคคล เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าอุณหภูมิที่แม่นยำที่สุด

ทางทีมวิจัยยังได้ออกแบบระบบบันทึกข้อมูลวิเคราะห์และประมวลผลภายในตัวเครื่อง สามารถเชื่อมต่อและส่งข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (3G/4G หรือ Wi-Fi) โดยในอนาคต ข้อมูลอุณหภูมิและภาพใบหน้าดังกล่าวจะถูกบันทึกในเซิฟเวอร์ หน่วยงานเจ้าของสถานที่ หรือ บุคคลที่ได้รับอนุญาตจะสามารถตรวจสอบข้อมูลการตรวจวัด ผ่าน Dashboard เว็บเซิร์ฟเวอร์ หรือ แอปพลิเคชั่นได้ นำไปสู่การป้องกันการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อและการติดตามการระบาดของโรคแบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากหรือแออัด รวมถึงสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน โรงงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิง ใช้ประโยชน์ในการเฝ้าระวัง เพื่อกำหนดมาตรการลดการแพร่กระจายของโรคติดต่อหรือการสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับภาวะการเสียสมดุลของอุณหภูมิร่างกาย รวมถึงสามารถนำข้อมูลไปศึกษาวิจัยด้านระบาดวิทยาได้อีกด้วย

ปัจจุบัน “มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์” อยู่ในขั้นตอนการทดสอบเพิ่มเติมตามเกณฑ์การทดสอบขั้นพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมลงสนามใช้จริง 40 เครื่องเร็วๆ นี้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.nectec.or.th/news/news-article/mutherm-facesense2020.html