COVID-19 ทำ 5G สะดุด นักวิชาการด้านโทรคมนาคมชี้ต้องมีมาตรการเพิ่ม

Share

Loading

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม และเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมาตรการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนในช่วงวิกฤติCOVID-19 ทั้งโครงการเพิ่มอินเทอร์มือถือเพิ่มฟรี 10 กิกะไบต์ และอัพสปีดอินเทอร์เน็ตบ้านเป็น 100 เมกะบิต

โดยไม่มีเงื่อนไขที่ซับซ้อนและไม่จำกัดจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ เพียงแต่ต้องมีการลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.นี้ เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนต่อเนื่อง กสทช. จึงมีมาตรการในการให้สิทธิ์ประชาชนโทรฟรีทุกเครือข่ายจำนวน 100 นาที ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่รอความช่วยเหลือ หรือผู้ที่คาดหวังว่าจะมีการปรับลดอัตราค่าบริการต้องผิดหวัง แต่ก็ถือว่ากระทรวงดีอีเอสและ กสทช. ดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว

“หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19ยังยืดเยื้อ อยากให้โอเปอเรเตอร์ลองพิจารณาความช่วยเหลือประชาชน โดยไม่ต้องออกเป็นมาตรการที่กระทรวงดีอีเอส และ กสทช. ต้องเรียกเข้ามาหารือ หรือเป็นการบังคับ และโดยเฉพาะภาวะการณ์เช่นนี้ ไม่อยากให้มองว่าใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์หรือใครเป็นผู้เสียประโยชน์ แต่อยากให้เอาเรื่องการช่วยเหลือกันเป็นที่ตั้ง เพราะแม้จะบอกว่าโอเปอเรเตอร์เป็นผู้เสียประโยชน์ แต่ก็เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในเครือข่ายของของคุณทั้งนั้น” นายสืบศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าหากไม่เกิดCOVID-19 ปีนี้จะเป็นปีทองของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งคาดว่าจะมี 5จี เกิดขึ้น และที่ผ่านมา กสทช. ก็มีการดำเนินการตามโรดแมพการขับเคลื่อนทั้งการจัดการประมูลคลื่นความถี่ และอื่นๆ ได้รวดเร็วเป็นอย่างดี ฉะนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงคาดว่า กสทช. อาจจะมีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือ โดยใช้ความร่วมมือของโอเปอเรเตอร์ในมาตรการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนในช่วงวิกฤตCOVID-19 นี้ ประกอบการพิจารณา แต่ก็ไม่อยากให้มองว่าเป็นการต่อรอง เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/877420