AVSEC III : Aviation Security

Share

Loading

สวัสดีครับเพื่อนสมาชิกนิตยสาร  Security Systems ที่เคารพ และแล้วปีหมูก็สิ้นสุดลงแบบไม่หมู เศรษฐกิจออกแนวซึมซึม จะหวังพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างชาติก็ดูเหมือนจะยาก รัฐบาลลุงตู่เลยต้องงัดสารพัดมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนผู้ประกอบการยังคงต้องรองบประมาณประจำปี 2563 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า ยังไงก็อดทนกันหน่อยนะครับ

            ความตั้งใจว่าฉบับนี้จะต่อเรื่องของระเบียบปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยด้านการบิน แต่มีเรื่องเกี่ยวกับแวดวงการบินที่น่าสนใจมาก เลยขออนุญาตเอามาอัพเดทกันก่อนแล้วกันนะครับ

Avi 3 2

            เมื่อวันพุธที่ 25 กันยายน 2562 ได้มีพิธีเปิดสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ของมหานครปักกิ่ง คือ สนามบินนานาชาติต้าซิง (Beijing Daxing International Airport : PKX) มีชื่อเล่นว่า “Starfish” หรือปลาดาวนั่นเอง เริ่มลงมือก่อสร้าง 26 ธันวาคม 2557 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 ปีเศษ (ยังสร้างไม่เต็มพื้นที่) จัดได้ว่าเป็นสนามบินนานาชาติที่สร้างได้รวดเร็วมากเมื่อเทียบระยะเวลากับขนาดความจุที่รองรับได้

Avi 3 3

            จากภาพจะเห็นได้ว่ารูปทรงของอาคารผู้โดยสาร “Starfish” หรือปลาดาว ที่ได้เปิดให้บริการแล้วจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ถึงปีละ 72 ล้านคน ตัวอาคารมี 5 ปีก 78 เกตส์ 6 รันเวย์ (คาดว่าจะเต็มความจุในปี 2568) ทั้งนี้ได้มีการวางแผนขยายอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ในปี 2593 เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารให้ได้เป็นปีละ 130 ล้านคน การเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารทั้งสองหลังจะใช้ APM (Automated People Mover) ที่มีระยะทางยาวมากมาก คล้ายกับสนามบินสุวรรณภูมิของเราที่มีการใช้ APM เชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังเก่าและใหม่เช่นเดียวกัน

            การออกแบบหลังคาอาคารผู้โดยสาร “Starfish” ด้วยกระจกเป็นชั้นๆ เพื่อดูดซับความร้อนและในขณะเดียวกันก็นำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นไฟฟ้าภายในสนามบินได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ชั้นใต้ดินของอาคารผู้โดยสารมีระบบขนส่งทางรางก็มีทั้ง รถไฟความเร็วสูง (High Speed inter-city Train) และรถไฟใต้ดิน (Subway) และถูกออกแบบมาให้รองรับการแผ่นดินไหวได้ถึง 8.0 แมกนีจูด

            สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจีนได้นำเทคโนโลยี AI-powered facial recognition มาใช้จับคู่ (matching) ภาพสแกนใบหน้ากับตั๋วเครื่องบิน เพื่อยืนยันตัวตนในการเข้าเมือง รวมถึงนโยบายลดการใช้กระดาษสำหรับกระเป๋าเดินทางด้วยการติด RFID Tag ใช้แสดงตำแหน่งได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบตำแหน่งกระเป๋าโดยอุปกรณ์โมบายผ่านระบบเครือข่าย 5G ได้ตลอดเวลาที่อยู่ภายในสนามบินนานาชาติต้าซิง

Avi 3 4

Avi 3 5

            ถึงแม้ว่ามหานครปักกิ่งจะมีสนามบินนานาชาติถึง 2 สนามบิน แต่ด้วยอัตราการเติบโตของการใช้บริการเดินทางโดยเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา จึงทำให้มหานครปักกิ่งถูกจัดลำดับให้เป็นสนามบินที่มีความหนาแน่นมาเป็นอันดับ 2 แถมมีแนวโน้มความเติบโตมากกว่า 5% ในปีถัดไปอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อรองรับพื้นที่ The Jing-Jin-Ji Metropolitan Area (JJJ) ที่ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศมีประชากรรวมกันไม่น้อยกว่า 110 ล้านคน ประกอบด้วย ปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย (Beijing-Tianjin-Hebei)

Avi 3 6A

โดย เตชิต ทิวาเรืองรอง

**สนามบินนานาชาติแห่งที่ 1 คือ Beijing Capital International Airport : PEK

สนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 คือ Beijing Daxing International Airport : PKX**

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.engineering.com/

https://aviation.stackexchange.com/questions/67235/why-does-beijings-new-daxing-airport-have-so-few-gates

https://www.statista.com/chart/19007/busiest-airports-by-passenger-traffic/

https://www.designboom.com/architecture/zaha-hadid-daxing-international-airport-beijing-09-26-2019/gallery/image/zaha-hadid-daxing-airport-beijing-designboom-17

https://aci.aero/wp-content/uploads/2019/03/2486_Top-20-Busiest-Airport_passenger_v3_web.pdf