Smart Transportation ปฏิรูปโครงสร้างระบบการขนส่งทางถนนด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ

Share

Loading

ระบบการขนส่งทางถนนถือเป็นระบบหลักในการขนส่งของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้า หรือการขนส่งมวลชน ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไม่ว่าจะเป็นในด้านของเศรษฐกิจ และวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน

Smart Transportation4

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า…

“โครงการมั่นใจทั่วไทยรถใช้ GPS ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 เป็นต้นมา ถือเป็นการปฏิรูประบบขนส่งทางถนนที่ครบวงจร เพราะเมื่อมีการติดตั้ง GPS Tracking ทั้งในภาคของรถบรรทุกขนส่งสินค้า และรถโดยสารประจำทางขนส่งมวลชน จะถือเป็นการครอบคลุมในส่วนที่สัมผัสโดยตรงกับประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน”

“ความคืบหน้าของโครงการในปัจจุบันคือ รถโดยสารทุกประเภท ทุกชนิด ทุกคัน ภายใต้กลุ่มเป้าหมายที่ประกาศใช้คือรถจดทะเบียนใหม่ ตั้งแต่ 25 มกราคม 2559 ต้องมีการติดตั้ง GPS Tracking ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี เนื่องจากว่าการออกแบบของโครงการนี้ เรามุ่งไปที่การมีส่วนร่วม ในลักษณะของความร่วมมือทั้งในมุมของภาครัฐ ภาคธุรกิจผู้การประกอบการ โดยกรมการขนส่งทางบกได้สร้างแรงจูงใจและหามาตรการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ”

โดยกรมการขนส่งทางบกได้มีการทำข้อตกลงร่วมกับบริษัทประกันภัย ในการให้สิทธิพิเศษด้านกรมธรรม์ประกันภัย สำหรับรถบรรทุกสินค้าและรถโดยสารสาธารณะที่ติดตั้งระบบ GPS Tracking รวมถึงยังได้มีการทำข้อตกลงร่วมกับบริษัทที่ให้บริการด้านสัญญาณเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เพื่อให้มีการปรับราคาค่าบริการที่ถูกลงสำหรับเชื่อมต่อกับระบบ GPS Tracking

Smart Transportation3

ประโยชน์ที่ได้รับด้านการบริหารจัดการ

“การให้ผู้ประกอบการมาติดตั้ง GPS ตรงนี้นอกจากประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนแล้ว เรายังมองว่าการพัฒนาในระบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเองอีกด้วย”

ระบบ GPS Tracking จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับการประกอบการให้เป็นมืออาชีพ เพราะจะสามารถก่อให้เกิดคุณภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถดูข้อมูลการเดินรถในธุรกิจของตัวเองได้แบบ Real Time เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการได้อย่างมีคุณภาพ ป้องกันพนักงานขับรถไม่ปฏิบัติตามแผนงานที่ได้วางไว้ เช่น การขับรถออกนอกเส้นทาง การนำรถไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ รวมถึงการขับรถด้วยความประมาทสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยในระบบ GPS Tracking ได้สร้างระบบการแจ้งเตือนเพื่อป้องปรามให้พนักงานขับรถได้กลับเข้ามาอยู่ในกรอบเกณฑ์ที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ผู้ประกอบการเดินรถยังสามารถสร้างเครือข่าย จัดตั้งเป็นกลุ่มพันธมิตรในการเดินรถผ่านระบบ GPS Tracking ที่กรมการขนส่งทางบกได้ออกแบบไว้ ทำให้ไม่ต้องวิ่งรถเที่ยวเปล่าซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ต้องสูญเสีย

“การขนส่งที่ไม่วิ่งเที่ยวเปล่าจะเป็นการพัฒนาในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นลดการสูญเสียเวลา ลดการใช้พลังงาน และที่สำคัญยังเป็นการลดปริมาณการจราจรบนท้องถนนอีกด้วย”

ดังนั้น การบริหารการเดินรถจากต้นทาง ปลายทาง ระหว่างทาง ที่มีการวางแผนไม่ให้มีการวิ่งเที่ยวเปล่า โดยใช้ระบบ GPS Tracking ที่กรมการขนส่งทางบกออกแบบไว้ จะเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ ให้เกิดการเชื่อมโยงกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ให้เป็นไปในลักษณะของปลาใหญ่กินปลาน้อย ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีรถขนส่งสินค้าของตัวเองจำนวนมากก็สามารถที่คุมตลาดได้ทั้งหมด แต่การสร้างเครือข่ายพันธมิตรขนส่งสินค้าจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีโอกาสได้แข่งขันในตลาดได้ ก่อให้เกิดการขนส่งที่มีคุณภาพ

ประโยชน์ที่ได้รับด้านการป้องกันอุบัติเหตุ

“นอกจากนี้ยังถือเป็นการบริหารจัดการเชิงป้องกัน เพราะเมื่อเห็นพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ก็จะมีการแจ้งเตือน ควบคู่กันกับชุดปฏิบัติการของกรมการขนส่งทางบกที่เมื่อพบเห็นพฤติกรรมแล้ว ในกรณีที่ร้ายแรงเรายังมีชุดเคลื่อนที่ที่สามารถทำการสกัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้”

รถบรรทุกหรือรถโดยสารประจำทางถือเป็นยานพาหนะขนาดใหญ่ที่เป็นปัจจัยอันส่งผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนน ดังนั้นหากสามารถที่จะดูแลระบบการเดินรถได้อย่างมีมาตรฐานก็เท่ากับว่าเป็นการยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชนที่สัญจรไปมาบนท้องถนนได้อีกด้วย

Smart Transportation2

ศูนย์ GPS การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน

“ลักษณะของศูนย์ GPS ที่มีการออกแบบไว้นี้ จะมุ่งเน้นที่การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ทั้งกรมการขนส่งทางบกที่ส่วนกลาง ทั้งขนส่งจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งผู้ประกอบการ รวมทั้งประชาชนผู้ใช้บริการ”

ศูนย์ GPS ส่วนกลางกรมการขนส่งทางบก

เป็น Data Center ของการเชื่อมโยงข้อมูล GPS Tracking เมื่อรถทุกคันถูกเชื่อมโยงมาที่นี่ ส่วนกลางก็จะสามารถติดตามการเดินรถทุกคันในประเทศ มองเห็นภาพรวมของการเดินรถทั่วประเทศ

ศูนย์ GPS สำนักงานขนส่งจังหวัด

เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรมและเข้าถึง จึงจำเป็นจะต้องมีบริหารจัดการในเชิงพื้นที่ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ GPS ที่สำนักงานขนส่งทุกจังหวัดทั่วประเทศ

“ตรงนี้เพื่อประโยชน์ ในการติดตามแบบ Real Time รถที่ติด GPS จะเห็นในเชิงพื้นที่ เช่น ในนครสวรรค์ก็จะเห็นรถที่ติดตั้ง GPS ที่วิ่งอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ พอเลยไปที่กำแพงเพชร รถเหล่านี้ก็จะถูก Tracking ไปที่กำแพงเพชร จะสังเกตว่าจาก Big Data ข้อมูลรถที่กรมการขนส่งทางบกได้รับ ในปัจจุบันประมาณสามแสนคัน ซึ่งในอนาคตจะเป็นล้านคัน การบริหารจัดการได้ด้วยศูนย์ GPS สำนักงานขนส่งจังหวัดทุกจังหวัด”

ศูนย์ GPS สำหรับผู้ประกอบการและประชาชน

การบริหารจัดการรถในธุรกิจของตัวเองนั้น ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้โดยตรง เพราะไม่ต้องไปออกแบบระบบใหม่ สามารถใช้ระบบที่กรมการขนส่งทางบกได้จัดทำไว้ให้ โดยระบบจะแสดงข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ เช่น ผู้ประกอบการที่มีรถอยู่ 80 คัน ก็สามารถที่จะใช้ระบบของกรมการขนส่งทางบกบริหารจัดการการเดินรถของตนเองได้เลย และหากผู้ประกอบการที่มีความพร้อม ก็ยังสามารถที่จะมีศูนย์ GPS ของตนเองได้อีกด้วย ก่อให้เกิดความสะดวกสบายในการทำงาน

รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย เช่น มีรถแค่ 1 – 5 คัน ก็สามารถเข้าถึงการบริหารจัดการนี้ได้ โดยใช้ smart phone ผ่านแอพพลิเคชั่น DLT GPS ซึ่งจะสามารถติดตามเฉพาะรถในเครือข่ายของตัวเองได้ตลอดเวลา

Smart Transportation1

“สำหรับภาคประชาชนที่โดยสารรถประจำทาง ก็สามารถที่จะใช้แอพพลิเคชั่น DLT GPS ได้เช่นกัน เช่น ผู้ใหญ่ที่จะไปส่งลูกหลานขึ้นรถประจำทางไปต่างจังหวัด อาจจะมีความเป็นห่วง อยากจะรู้ว่าลูกหลานอยู่บนรถแล้วได้รับการบริการในรูปแบบไหน ก็สามารถที่จะติดตามได้ โดยคีย์ทะเบียนรถเข้าไปในแอพพลิเคชั่น DLT GPS จะทำให้รู้ว่ารถออกจากสถานีไหนมุ่งหน้าไปเส้นทางใด จะไปจอดที่สถานีไหน จะไปถึงจุดหมายปลายทางเวลาเท่าไหร่ ก็จะทำให้รู้ข้อมูลในการให้บริการว่า และหากพบพฤติกรรมการเดินรถที่สุ่มเสี่ยง เช่น ใช้ความเร็วเกินกำหนด คนขับมีชั่วโมงการทำงานเกินกำหนด ก็สามารถที่จะแจ้งร้องเรียนเข้ามาทางแอพพลิเคชั่นได้ทันที”

สิ่งเหล่านี้คือการบริหารจัดการร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งในภาครัฐ ภาคสถานประกอบการ รวมถึงภาคประชาชน

ความโปร่งใสเป็นไปตามกลไกตลาด

สำหรับในส่วนของผู้ให้บริการติดตั้ง GPS นั้น ทางกรมการขนส่งทางบกได้เปิดโอกาสให้ทุกบริษัทได้เข้ามามีส่วนร่วม เพียงแค่ต้องมีความรับผิดชอบต่องานและมีมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดที่กรมการของส่งทางบกได้วางเอาไว้ เพื่อป้องกันในกรณีที่สินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพอันจะก่อให้เกิดปัญหาในการนำรถไปติดตั้ง

“เดิมทีมีผู้ให้บริการติดตั้ง GPS ได้รับการรับรองจากกรมจำนวน 30 ราย และมีผู้ที่ผ่านการรับรองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้รับรองไปแล้วร้อยกว่าราย แม้แต่รุ่นของ GPS ทุกคนก็สามารถเลือกได้ตามความพอใจ กรมการขนส่งทางบกได้รับรองรุ่นของ GPS ประมาณ 200-300 แบบรุ่นแล้ว ซึ่งเป็นรุ่นที่มีคุณภาพมาตรฐานสามารถเชื่อมโยงกับระบบ GPS Tracking ของกรมการขนส่งทางบกได้ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราสนใจที่ตัวระบบ ส่วนเรื่องของชนิด รุ่น แบบ เราสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแข่งขันตามกลไกตลาด ผู้ประกอบการสามารถที่จะเลือกใช้ได้ตามความพอใจ ถือเป็นความโปร่งใสชัดเจนในการออกแบบโครงการ

การต่อยอดอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ระบบ GPS Tracking ยังถูกนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในหลายแค่มุม เช่น taxi ok , taxi vip ซึ่งมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพและการให้บริการ สร้างความปลอดภัยให้ผู้โดยสารและผู้ขับขี่ โดยมีระบบ GPS Tracking มีกล้อง Snap Shot รวมทั้งยังมีปุ่ม SOS ในกรณีที่ต้องการขอความช่วยเหลือ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการต่อยอดไปจากการมีศูนย์ GPS

รวมถึงการนำข้อมูล GPS Tracking ที่กรมการขนส่งทางบกได้รับไปทำ Big data analytics ก็ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างมีทิศทาง ตามสถานการณ์จริง วิเคราะห์แนวโน้มของอนาคตที่จะเกิดขึ้นในด้านการคมนาคมขนส่ง สามารถที่จะมีมาตรการรองรับได้อย่างทันท่วงที

“เพราะนี่เป็นการปฏิรูประบบการขนส่งทางถนนแบบครบวงจร อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการด้านคมนาคมขนส่งของประเทศอย่างมีทิศทาง มีประโยชน์ทั้งในเชิงป้องกัน และเชิงการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งของประเทศไปสู่ยุคของ Smart Transportation

GPS Tracking ความสำเร็จและการต่อยอดสู่ Smart Transportation