การตรวจจับใบหน้าด้วยสมองกล จะไปไกลเพียงใด ในโลกอนาคต

Share

Loading

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ผมเชื่อว่าทุกท่านคงจะจดจำเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสะเทือนใจได้เป็นอย่างดี สำหรับปฏิบัติการก่อการร้านที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก หรือที่ถูกเรียกในภายหลังว่าเหตุการณ์ 9/11 (ไนน์วันวัน)
ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือความพยายามของรัฐบาลชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐ ที่ต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อป้องกันการก่อการร้ายซึ่งมีความถี่สูงและมีการพัฒนารูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม

การตรวจจับใบหน้าด้วยสมองกล

การตรวจจับใบหน้าด้วยสมองกล หรือ Face Recognition ด้วย Artificial Intelligence (AI) จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้กล้องวงจรปิดในสถานที่สำคัญต่าง ๆ สามารถตรวจจับใบหน้าของคนร้ายซึ่งเคยมีประวัติอาชญากรรม ซึ่งระบบจะสามารถแจ้งเตือนได้อย่างอัตโนมัติทันทีที่คนร้ายเหล่านั้นย่างกรายเข้ามาในสถานที่ดังกล่าว

เมื่อเทคโนโลยีใดที่เป็นที่ต้องการ เทคโนโลยีนั้นย่อมถูกอัดฉีดด้วยทุนวิจัย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พัฒนาการตรวจจับใบหน้า จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสมองกล ที่มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

เราอาจสังเกตได้จากการแท็กภาพของบุคคลที่รู้จักในเฟซบุ๊ค ซึ่งเฟซบุ๊คได้ทำการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้มาระยะหนึ่งแล้ว หรือแม้กระทั่งกล้องถ่ายรูปในยุคปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแค่จะตรวจจับใบหน้าของบุคคลทั่วไป หรือบุคคลที่รู้จักได้เท่านั้น แต่ยังคงสามารถตรวจจับรอยยิ้มได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าด้วยสมองกลที่มีความอัจฉริยะ ก็ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลในด้านการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะไม่เพียงแต่กล้องวงจรปิดที่่ใช้เทคโนโลยีนี้่ จะสามารถตรวจจับใบหน้าของคนร้ายที่เคยมีประวัติอาชญากรรมเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้เพื่อตรวจจับและบันทึกในหน้าของบุคคลทั่วไป โดยสามารถสร้างทะเบียนประวัติและพฤติกรรมของบุคคลต่าง ๆ ได้อย่างเป็นอัตโนมัติ ซึ่งถ้ากล้องวงจรปิดที่ใช้เทคโนโลยีนี้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น พฤติกรรมของบุคคลต่าง ๆ ก็จะสามารถนำไปประมวลผลได้อย่างแม่นยำและครบถ้วน จนเกือบจะไม่หลงเหลือความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องมีการปรับตัวและหาวิธีการที่จะให้เกิดภาวะที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างโลกยุคใหม่ที่มีความปลอดภัยและไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจนเกินพอดี

ระบบการคาดคะเนที่แม่นยำสูง

นอกจากนี้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การตรวจจับใบหน้าด้วยสมองกล ได้มีพัฒนาการอย่างน่าสนใจ เพราะไม่เพียงแต่จะสามารถบ่งชี้ตัวตนของเจ้าของใบหน้าได้ แต่ยังสามารถบ่งชี้ลักษณะอื่นๆ จากใบหน้าได้อีกด้วย เช่น นักวิจัยจาก Shanghai Jiao Tong University ประเทศจีน ได้พิสูจน์ว่าระบบสมองกล สามารถคาดคะเนด้วยความแม่นยำ ถึง 89.5% โดยอาศัยเพียงภาพถ่ายของใบหน้าที่ไม่เคยมีประวัติมาก่อน ก็จะรู้ว่าเจ้าของใบหน้าเป็นอาชญากรหรือไม่ ซึ่งหมายความว่า เทคโนโลยีสมองกล สามารถค้นพบความสัมพันธ์อะไรบางอย่างจากลักษณะของอวัยวะบนใบหน้าของมนุษย์ ที่สามารถชี้ชัดได้ว่าผู้ที่มีลักษณะเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะเป็นอาชญากร โดยสามารถประเมินได้อย่างแม่นยำถึง 89.5% รวมถึง นักวิจัยจาก Stanford University สหรัฐ ก็ได้พิสูจน์ว่า ระบบสมองกล สามารถคาดคะเนด้วยความแม่นยำถึง 91% โดยอาศัยเพียงภาพถ่าย ของใบหน้าที่ไม่เคยมีประวัติมาก่อนอีกเช่นกัน ว่าเจ้าของใบหน้าเป็นชายรักชายหรือไม่ ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปมีความแม่นยำเพียง 61% เมื่อประเมินความเป็น ชายรักชาย จากเพียงภาพถ่าย นอกจากนี้ ระบบสมองกล สามารถคาดคะเนด้วยความแม่นยำถึง 83% ว่าเจ้าของใบหน้า เป็นหญิงรักหญิงหรือไม่ ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปมีความแม่นยำเพียง 54%

นอกจากนี้ แอ๊ปเปิ้ล บริษัทชั้นนำของโลกทางด้านเทคโนโลยี ผู้ซึ่งผลิต ไอโฟน ยังได้ซื้อบริษัทขนาดเล็ก ที่มีเทคโนโลยีในการอ่านใจด้วยระบบสมองกล โดยอาศัยเพียงภาพถ่าย ซึ่งในปีเดียวกัน เฟซบุ๊ค ก็ได้ซื้อบริษัทขนาดเล็กอีกแห่งหนึ่ง ที่มีเทคโนโลยีที่คล้ายกัน
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าระบบสมองกล สามารถที่จะเรียนรู้ได้จากใบหน้า ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่การบ่งชี้ตัวตนของเจ้าของใบหน้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิ่งอื่น ๆ ที่เทคโนโลยีสามารถคาดคะเนได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มที่จะเป็นอาชญากร แนวโน้มที่จะเป็นชายรักชาย รวมถึงการมีอารมณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ภายในใจ

อาจไม่ใช่เรื่องแปลก หากในอนาคต สมองกลจะสามารถคาดคะเนสิ่งอื่น ๆ ได้อีก เช่น ความมั่งคั่ง ความฉลาด ความแข็งแรง ความมีอายุยืน และเมื่อสมองกลเปิดเผยทุกสิ่งจากการวิเคราะห์ใบหน้า ดังนั้นเทคโนโลยีดังกล่าวนี้จึงถือเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.bangkokbiznews.com