กรณีศึกษาโครงการ Smart City เชียงใหม่พัฒนาเมือง

Share

DEPA หรือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาเชียงใหม่ คือหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ SMART CITY ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติแวะเวียนไปเที่ยวตลอดทั้งปี 

คุณพงศ์ศักดิ์ อริยจิตไพศาล ผู้จัดการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาเชียงใหม่ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ Smart City เชียงใหม่พัฒนาเมือง ว่า... “คำว่า Smart City หรือในภาษาไทยที่เราเรียกว่า เมืองอัจฉริยะ นั้นจริง ๆ แล้วเชียงใหม่ในความเห็นของผม ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีปัจจัยอันเป็นพื้นฐานของความเป็นเมืองอัจฉริยะในตัวเองอยู่แล้ว”

17

คุณพงษ์ศักดิ์ อริยจิตไพศาล ผู้จัดการ สนง.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

สาขาเชียงใหม่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ปัจจัยพื้นฐานของเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาถึง 8 แห่งด้วยกัน ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับการมีมหาวิทยาลัยถึง 8 แห่ง อยู่ในจังหวัดเดียวกัน “ทำให้มีความพร้อมในด้านขององค์ความรู้และบุคลากร โดยเฉพาะบุคลากรในด้าน IT”

ซึ่งจะเห็นได้ว่า เชียงใหม่มี Application ในการเดินทางค่อนข้างเยอะ เช่น ระบบเกี่ยวกับการเดินทางของรถโดยสารประจำทาง , ระบบแจ้งปัญหาหมอกควัน โดยความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งการศึกษาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งเสน่ห์ของวัฒนธรรมล้านนา ประกอบกับนิสัยใจคอของผู้คน และค่าครองชีพที่ไม่สูงมากนัก ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติแวะเวียนมาเที่ยวตลอดทั้งปี

“เรามีพื้นฐานด้านบุคลากร ที่มีความพร้อมในการทำงานด้าน Digital แต่เราจะทำอย่างไรให้เชียงใหม่เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และนักท่องเที่ยว”

chiang-mai-and-chiang-rai-wide

DEPA เชียงใหม่

DEPA เชียงใหม่ ถือเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน SMART CITY ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณะกรรมการอยู่ 2 ชุด

ชุดแรก มีชื่อว่า ชุดยุทธศาสตร์เชียงใหม่ SMART CITY โดยมีท่านปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานและมี DEPA เป็นเลขาและกรรมการ และหน่วยงานภาครัฐ เอกชนอื่นๆ

ชุดที่สอง มีชื่อว่า ชุดขับเคลื่อน มีท่านกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน และ DEPA เป็นเลขากรรมการ โดยคณะกรรมการเชียงใหม่ SMART CITY ได้มีการประชุมอย่างเป็นทางการ 5 ครั้ง จนสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ โดยมีขอบข่ายการทำงานอยู่ทั้งหมด 5 หัวข้อ (3 + 2)

ได้แก่ กินดี, อยู่ดี, มีสุข + พัฒนาการบริหารและการบริการภาคของรัฐ, เพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

ยุทธศาสตร์เชียงใหม่ SMART CITY

1.กินดี : ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
(Smart Tourism, Smart Agriculture , Digital Economy)

“เรามองในเรื่องของเศรษฐกิจ Smart Economic ซึ่งได้แก่ Smart Business ต่าง ๆ เช่น Smart tourism เราก็มี Application ที่มีชื่อว่า Chiangmai I love U เพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเดินทาง การบอกถึงร้านค้าและบริการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างเส้นทาง เป็นเหมือนการสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเป็นแพ็คเกจทัวร์ทัวร์ของเราเอง หากผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ที่ได้ปักหมุดใน App นี้จะทำ e commerce ได้เลยโดยการสร้างเว็บไซต์แล้วลิงค์ไปจาก App นี้”

นอกจากนี้ยังมีการให้ความสำคัญในเรื่องของ “Smart Agriculture เพราะเชียงใหม่มีพื้นที่กว่า 80% เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยจะสังเกตได้ว่าเราไม่ใช่คำว่า Smart Farming เพราะว่าเรามองถึงระบบใหญ่เป็นเรื่องของระบบชลประทาน การบริหารจัดการน้ำ การให้น้ำด้วย sensor หรือในเรื่องของการใช้โดรนพ่นยาฆ่าแมลง รวมถึงเรื่องของการตรวจเช็คสภาพความสมบูรณ์ โรคที่เกิดกับพืชโดยการถ่ายภาพ เป็นต้น”

2.อยู่ดี : ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
(Smart Living, Smart Learning , Digital Social)

“ในเรื่องของ Health care เราก็มีระบบ Doctor on call โดยเป็นระบบแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลบนดอย กับโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่บนพื้นราบ”

3.มีสุข : ยกระดับความมั่นคง
(Smart Security , Smart Environment , Smart Conservation)

“ประมาณเดือนมีนาคมเชียงใหม่จะประสบกับปัญหาเรื่องของหมอกควัน จึงจำเป็นต้องมีระบบการเตือนหมอกควัน พอเดือนกรกฎาก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำ ขาดแคลนน้ำ ก็จะต้องมีระบบจัดการน้ำ หรือในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ทำให้จำเป็นจะต้องมีระบบป้องกันภัยธรรมชาติ”

“รวมถึงเรื่องของ Security , Safety ซึ่งสำหรับจังหวัดเชียงใหม่นั้น หากเทียบในตัวเมือง ก็ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีกล้อง CCTV มีมากที่สุดในประเทศ คือมีอยู่ทั้งหมด 5000 กว่าจุด เป็นของ อบต. อบจ. เทศบาล ตำรวจ โดยรวมแล้วเป็นกล้องร้อยกว่ายี่ห้อ ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดก็ให้โจทย์มาว่า ต้องการสร้าง platform ในการบริหารจัดการเรื่องนี้”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Smart Parking , Smart Lighting ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นี่คือกรอบ 3 ประการของยุทธศาสตร์เชียงใหม่ SMART CITY ซึ่งจะต้องประกอบเข้ากับอีก 2 เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่

1.พัฒนาการบริหารและบริการของภาครัฐ (Smart Government, Good Governance, Smart Open Data) 

“เป็นเรื่องของการบริหารจัดการข้อมูลของภาครัฐ เนื่องจากในปัจจุบันมี Data จำนวนมากที่อยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ จะทำอย่างไรให้เกิดเป็น Data Center เพื่อนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

2.เพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (Smart Education, Digital Literacy)

“ถ้าเราทำทุกอย่าง Smart แต่คนไม่ Smart ในที่สุดระบบก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของ Smart People ด้วย เช่น เรื่องของดิจิตอลเทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ การใช้ Line, Facebook, Innovation Center Maker Space สร้างการเรียนรู้ให้คนสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ใกล้ตัว ไม่จำเป็นต้องเขียนซอฟแวร์ที่สลับซับซ้อน แต่สามารถทำเรื่อง Internet of Thing ได้ง่าย ๆ เป็นต้น”

การต่อยอดและพัฒนา

สำหรับการต่อยอดและพัฒนาระบบที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น “เราอาจจะทำได้ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของ Application ต่างๆ เช่น Chiangmai I love U อาจจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการบอกเส้นทาง หรือระบบการเตือนเรื่องฝุ่นละอองในอากาศโดยปกติจะมีการแจ้งเตือนเมื่อถึงจุดวิกฤตแล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้มีการแจ้งเตือนก่อนที่จะถึงจุดวิกฤต เพื่อเข้าระงับเหตุและคลี่คลายสถานการณ์”หรือในปัจจุบันที่มี CCTV ติดตั้งอยู่ถึง 5000 จุด ก็จะมีการสร้าง Center Application เพื่อประสานการทำงานของกล้องต่าง ๆ หลากหลายยี่ห้อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ และอาจจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจสอบอุณหภูมิของแต่ละพื้นที่ เพื่อแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ เช่น การป้องกันไฟป่ารวมไปถึงเรื่อง Smart Parking ก็มีในส่วนของ CCTV analysis เป็นระบบในการวิเคราะห์สถานการณ์ และแจ้งเตือนหากมีสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการโจรกรรมทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นต้น