เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมาร์ทโฮม by SIS Distributions

Share

Loading

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายบริษัทในการนำคอมพิวเตอร์มาควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้านพักอาศัยหรือที่ทำงานแทนการใช้คนเปิด/ปิด พร้อมกับการคิดค้นอุปกรณ์ต่าง ๆ มาติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ทำงานร่วมกันแบบอัตโนมัติที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและเพิ่มความปลอดภัยให้กับที่พักอาศัยโดยเรียกระบบนี้ว่า สมาร์ทโฮม หรือโฮมออโตเมชั่น แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีและการไม่มีมาตรฐานที่จะให้อุปกรณ์ใช้งานร่วมกันได้ ทำให้ระบบสมาร์ทโฮมที่ผ่านมาไม่ได้รับความนิยมมากนัก ให้ประโยชน์ได้ไม่มากพอ และมีราคาแพง ถูกใช้ในวงจำกัด

11

จนเมื่อการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ากับเครือข่ายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นและทำได้ในต้นทุนที่ถูกลงจนกลายมาเป็นกระแส IoT (internet of thing) และการเกิดขึ้นของ cloud computing ที่ทำให้สามารถพัฒนาโปรแกรมเพื่อควบคุมอุปกรณ์จำนวนมากได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการที่สมาร์ทโฟนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมระบบได้ ทำให้เริ่มมีการพัฒนาระบบสมาร์ทโฮมรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด พร้อมการมีมาตรฐานมารองรับเพื่อให้สามารถใช้กับผู้ผลิตหลายรายได้และสามารถเชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ ผ่าน cloud ได้ ซึ่งถือเป็นยุคใหม่ของสมาร์ทโฮมที่เชื่อว่าจะได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นมาก

 

เนื่องจากในช่วงนี้ ยังถือเป็นช่วงเริ่มต้นของสมาร์ทโฮมที่มีให้เลือกหลายรูปแบบ สร้างความสับสนให้กับผู้ใช้งาน จึงขอใช้โอกาสนี้กล่าวถึงระบบสมาร์ทโฮมแต่ละแบบ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อ และเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจสมาร์ทโฮม

รูปแบบของสมาร์ทโฮม

สามารถแบ่งระบบสมาร์ทโฮมออกเป็นสองแบบคือแบบเฉพาะเจาะจงที่มีอุปกรณ์ควบคุมชนิดเดียวและแบบหลากหลายที่เป็นระบบใหญ่ขึ้น ควบคุมอุปกรณ์ได้หลายประเภท ซึ่งแบบแรกที่เป็นแบบเฉพาะเจาะจง มักใช้กับอุปกรณ์ชนิดเดียวและมักไม่มีระบบควบคุมกลางในบ้าน แต่ใช้วิธีควบคุมโดยตรงจากสมาร์ทโฟนหรือผ่านคอมพิวเตอร์บน cloud ของผู้ให้บริการที่จะต้องเชื่อมต่ออุปกรณ์นั้นเข้ากับอินเตอร์เน็ต จึงจะสามารถใช้งานได้ ส่วนแบบที่สองมักมีระบบควบคุมกลางในบ้านที่ต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตด้วย ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดี ข้อเสีย และเหมาะสำหรับการใช้งานที่ต่างกัน

แบบแรกที่เป็นแบบเฉพาะเจาะจง มักจะใช้งานได้ง่าย มีอุปกรณ์น้อยชิ้น โดยอุปกรณ์นั้นอาจจะทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ หรืออาจจะต่อเชื่อมเข้ากับคอมพิวเตอร์บน cloud ของผู้ให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ตเพื่อให้สามารถสั่งงานจากนอกบ้านได้ด้วย ซึ่งระบบเหล่านี้ มักจะถูกออกแบบให้ติดตั้งง่าย ใช้งานง่าย แต่มีข้อเสียที่การใช้งานจะจำกัดเฉพาะเรื่องนั้น ๆ และบางระบบที่อาศัยคอมพิวเตอร์บน cloud เป็นตัวควบคุม จะต้องเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตตลอดเวลาจึงจะทำงานได้ ถ้าอินเตอร์เน็ตขัดข้องหรือคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการหยุดทำงาน ระบบจะหยุดทำงานไปด้วยและในบางกรณี จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายรายเดือนด้วย ระบบที่ทำงานในลักษณะนี้เช่น Nest ที่เริ่มต้นพัฒนา Learning Thermostat ซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะที่หลังจากการผ่านการใช้งานไประยะหนึ่ง Nest จะเรียนรู้ความต้องการของผู้ใช้จากการปรับอุณหภูมิของผู้ใช้ ว่าวันไหน เวลาไหน มีการตั้งอุณหภูมิไว้อย่างไร โดยหลังจากนั้น Nest จะเริ่มปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้ใช้แต่ละคนได้โดยอัตโนมัติ ช่วยประหยัดพลังงานและช่วยปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมตลอดเวลาผ่านคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการที่จะศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้

ข้อเสียหลักของระบบแบบนี้คือข้อจำกัดของประเภทอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ เช่นกรณีของ Nest จะมีแค่ Learning Thermostat สำหรับใช้ควบคุมอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศเท่านั้น ไม่มีอุปกรณ์อื่น ๆ ให้ใช้งานเพิ่มเติม จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ Nest ได้เริ่มแนะนำอุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเติม แต่ก็ยังคงจำกัดอยู่เพียงไม่กี่รายการและแนวทางแบบนี้ จะมีข้อจำกัดที่ทำให้ใช้กับกับอุปกรณ์ไม่กี่ประเภทเท่านั้น

อีกตัวอย่างของระบบโฮมออโตเมชั่นในลักษณะนี้คือ Philips Hue ที่เน้นการควบคุมแสงสว่างเป็นหลัก โดยเป็นระบบที่สามารถควบคุมความหลอดไฟ Philips ได้ ซึ่งโดยรวมแล้ว ระบบโฮมออโตเมชั่นแบบนี้ มักจะติดตั้งง่าย ใช้ง่าย แต่ก็มีข้อเสียในแง่การจำกัดการใช้งานเพียงเรื่องเดียว

11-2

ระบบที่ใช้งานได้หลากหลาย

อีกรูปแบบของสมาร์ทโฮมคือแบบที่ใช้ควบคุมอุปกรณ์ได้หลากหลาย โดยแบบนี้ มักมีอุปกรณ์ควบคุมกลางด้วย และเป็นระบบที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้หลายประเภท ทำให้เป็นระบบที่ขยายงานได้ โดยอาจจะเริ่มต้นด้วยระบบเล็ก ๆ ที่ใช้ควบคุมอุปกรณ์ไม่กี่ชิ้นแล้วค่อยขยายภายหลัง แต่ก็มีข้อเสียที่ทำให้ระบบยุ่งยากขึ้น การใช้งาน จะต้องมีการตั้งโปรแกรม และในการควบคุมอุปกรณ์บางประเภท อาจต้องให้ช่างไฟฟ้าเข้ามาติดตั้งให้ เช่นอุปกรณ์สำหรับควบคุมแสงสว่างผ่านหลอดไฟที่มีอยู่แล้ว

อีกเรื่องสำคัญสำหรับระบบงานที่ใช้ได้หลากหลายคือมาตรฐานที่จะทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อาจมาจากบริษัทต่างกัน ทำงานร่วมกันได้ เพราะการจะเป็นระบบที่จะใช้งานได้หลากหลายนั้น หมายถึงการที่ต้องมีอุปกรณ์ที่หลากหลายในระบบเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่อุปกรณ์เหล่านี้ จะมาจากผู้ผลิตเพียงรายเดียว ดังนั้น การมีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ และมีบริษัทเข้าร่วมจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นปัจจัยที่จะผลักดันให้ระบบสมาร์ทโฮมประสบผลสำเร็จ

สองมาตรฐานหลักของโฮมออโตเมชั่น

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัท IT ขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลและมีลูกค้าจำนวนมาก ได้มีความพยายามกำหนดและผลักดันระบบสมาร์ทโฮมของตนเองให้ได้รับความนิยมจนกลายเป็นมาตรฐานกลาง ที่บริษัทอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบ HomeKit ของ Apple, Google Home, Google Nest, Amazon Echo/Alexa แต่ดูเหมือนระบบเหล่านี้ ยังมีข้อจำกัด ไม่สามารถเติบโตจนกลายเป็นมาตรฐานกลางที่เป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตทั่วไปอย่างกว้างขวางและสามารถใช้กับอุปกรณ์หลาย ๆ อย่างได้ ซึ่งท่ามกลางมาตรฐานเหล่านี้ มีสองมาตรฐานที่โดดเด่น และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการโฮมออโตเมชั่นหรือ Office Automation คือ Zigbee และ Z-Wave

Zigbee คืออะไร

11-23

Zigbee เป็นมาตรฐานกลางที่กำหนดขึ้นเพื่อให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถสื่อสารกันแบบไร้สาย โดยเน้นการสื่อสารระยะใกล้ ในช่วง 10-100 เมตร ที่เรียกว่า personal area networks โดยเป็นการสื่อสารที่ใช้พลังงานน้อยและปริมาณข้อมูลที่ต้องสื่อสารกันน้อย มีขนาดเล็ก จึงเป็นหนึ่งในมาตรฐานที่เหมาะสำหรับโฮมออโตเมชั่น

คลื่นความถี่ที่ Zigbee ใช้ในการสื่อสาร คือ 2.4GHz ซึ่งเป็นคลื่นเดียวกับ WiFi ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จัดสรรให้ใช้กันได้ทั่วไปอยู่แล้ว อุปกรณ์ในระบบ Zigbee จึงมักนำไปใช้งานในประเทศต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก ไม่มีปัญหาในเรื่องความถี่ในการใช้งาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบัน มีอุปกรณ์ที่ใช้ WiFi ความถี่ 2.4GHz จำนวนมาก โอกาสที่จะเกิดสัญญาณรบกวนในระบบ Zigbee ก็มีมากขึ้นเช่นกัน

ข้อดีอีกเรื่องของ Zigbee คือการที่ Zigbee เลือกใช้การสื่อสารแบบ mesh ที่อุปกรณ์ต่าง ๆ จะช่วยถ่ายทอดสัญญาณไปยังตัวอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ให้ด้วย ทำให้ระบบ Zigbee สามารถติดตั้งให้ระบบทำงานได้ง่ายเพราะอุปกรณ์แต่ละตัวจะติดต่อกันเองเพื่อส่งต่อสัญญาณไปยังตัวควบคุมกลางที่อาจอยู่ไกล ๆ ได้ด้วย

โดยรวมแล้ว Zigbee เป็นมาตรฐานที่ดี มีการนำไปใช้กันมาก แต่ Zigbee มีข้อเสียที่สำคัญคือในช่วงเริ่มต้น มีการกำหนดมาตรฐานไว้เฉพาะส่วนคลื่นวิทยุเท่านั้น ไม่ได้กำหนดมาตรฐานในระดับ application ไว้ด้วย ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบ Zigbee ที่มาจากบริษัทต่าง ๆ อาจไม่สามารถทำงานภายใต้โปรแกรมเดียวกันได้ มาตรฐาน Zigbee จึงมักถูกใช้ในระบบปิด โดยใช้เฉพาะส่วนที่เป็นการติดต่อสื่อสารแบบไร้สายของอุปกรณ์ต่าง ๆ ของแต่ละบริษัทเท่านั้น ไม่สามารถใช้งานข้ามบริษัทได้ ซึ่งต่อมา มีความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยการกำหนดมาตรฐานสำหรับงานแต่ละแบบขึ้น ซึ่งเรื่องส่วนนี้ว่า profile โดยมีการกำหนด profile ที่เป็นมาตรฐานสำหรับ Home Automation ขึ้น แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับการยอมรับมากนัก และมีการกำหนด profile ไว้หลายประเภท สำหรับแต่ละเรื่อง ที่ทำให้สับสนได้ง่าย ทำให้ Zigbee ไม่สามารถก้าวข้ามไปเป็นมาตรฐานกลาง ที่ได้รับการยอมรับจนสามารถใช้งานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์ที่มาจากบริษัทต่างกันได้

จากปัญหานี้ ได้เกิดมาตรฐานใหม่ Z-Wave ที่แก้ไขข้อผิดพลาดของ Zigbee โดย Z-Wave ได้กำหนดมาตรฐานตั้งแต่ระดับคลื่นวิทยุจนถึง application ที่ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ แม้จะเป็นอุปกรณ์จากคนละบริษัท จึงทำให้ระบบโฮมออโตเมชั่นที่ใช้ Z-Wave ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

Z-Wave คืออะไร

11-24

Z-Wave คือระบบสื่อสารไร้สายที่ออกแบบขึ้นสำหรับใช้ในงานโฮมออโตเมชั่นหรือออฟฟิศออโตเมชั่นโดยเฉพาะ โดยอุปกรณ์ที่ทำงานภายใต้ระบบ Z-Wave จะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้และสามารถติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกผ่านการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ด้วยโดยผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Z-Wave Gateway หรือตัวควบคุมกลาง.

ปัจจุบัน บริษัท Sigma Designs เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า Z-Wave และเป็นผู้ผลิตชิพสำหรับการนำไปผลิตเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบ Z-Wave โดยผู้ผลิตอุปกรณ์ในระบบ Z-Wave จะต้องใช้ชิพของ Sigma Design และต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจาก Sigma Designs จึงจะสามารถใช้เครื่องหมายการค้า Z-Wave ได้ เมื่อรวมกับการกำหนดมาตรฐานไปจนถึงระดับ Application ทำให้สินค้าภายใต้มาตรฐาน Z-Wave จากบริษัทต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ดี

ปัจจุบัน มีบริษัทที่ผลิตที่ผลิตสินค้าตามมาตรฐาน Z-Wave มากกว่า 600 บริษัท และผลิตสินค้าออกมาแล้วกว่า 2,100 รายการ โดย Sigma Designs ได้ให้ข้อมูลว่าได้จำหน่ายชิพสำหรับการนำไปผลิตเป็นอุปกรณ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า Z-Wave แล้วมากกว่า 10 ล้านชิ้น ทำให้ Z-Wave เป็นหนึ่งในมาตรฐานโฮมออโตเมชั่นที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุด

ความถี่ของ Z-Wave

Z-Wave เป็นระบบไร้สายที่ทำงานที่ความถี่ต่ำกว่า 1GHz ซึ่งคลื่นความถี่ที่ต่ำกว่า 1GHz นี้ สามรถเดินทางได้ไกลกว่าคลื่นที่ความถี่ 2.4GHz หรือ 5GHz ของ WiFi และการใช้ความถี่ที่แตกต่างไปจาก WiFi ทำให้ไม่มีปัญหาสัญญาณรบกวนจากอุปกรณ์ WiFi ที่มีอยู่มาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดสรรความถี่ให้กับ IoT ซึ่งรวมถึง Z-Wave

ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ความถี่ของ Z-Wave จึงอาจแตกต่างกันได้ในแต่ละประเทศ โดยความถี่ของ Z-Wave ที่ใช้ในประเทศหลัก ๆ มีดังนี้

ประเทศ ความถี่ Z-Wave หมายเหตุ
สหรัฐอเมริกา 908.4MHz ในประเทศไทย เป็นความถี่ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้ใช้กับโทรศัพท์มือถือที่เรียกรวมกันไปว่าเป็นความถี่  900MHz จึงไม่สามารถนำสินค้า Z-Wave ที่ออกแบบสำหรับใช้ในสหรัฐอเมริกามาใช้ในประเทศไทยได้
ยุโรป/จีน 868.4MHz ในประเทศไทย เป็นความถี่ที่ กสทช. กำหนดให้ใช้สำหรับภารกิจเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงไม่สามารถนำสินค้า Z-Wave ที่ออกแบบสำหรับใช้ในยุโรป/จีน มาใช้ในประเทศไทยได้
ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ 921.4MHz สามารถใช้ในประเทศไทยได้

11-25

สำหรับประเทศไทย ในวันที่ 19 กรกฎาคม 60  ที่ผ่านมา กสทช. ได้จัดทำร่างประกาศที่กำหนดให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 920 – 925MHz กับ IoT ทำให้ Z-Wave ที่นำเข้ามาใช้งานในประเทศไทย จะต้องใช้งานในช่วงความถี่นี้ และได้เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ได้รับผลกระทบจากร่างประกาศนี้ ร่วมแสดงความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 – 31 สิงหาคม 2560 โดยหลังจากนั้น จะประกาศใช้ ซึ่งคาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ก่อนสิ้นปี 2560 นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนในการใช้งานระบบ Z-Wave ในประเทศไทย

รูปแบบการเชื่อมต่อและการสื่อสาร

ระยะการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ Z-Wave ว่าจะไปได้ไกลเพียงใดจะขึ้นกับชนิดของเสาอากาศโดยถ้าใช้เสาอากาศภายนอกที่มีขนาดใหญ่ จะสามารถเชื่อมต่อได้ถึง 200 เมตร แต่ระยะจะลดลงตามชนิดของเสาอากาศที่เลือกใช้ ทั้งนี้ มีการกำหนดระยะขั้นต่ำว่าจะต้องไม่น้อยกว่า 40 เมตร แต่นอกเหนือจากการเชื่อมต่อระหว่างตัวควบคุมกลางกับอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยตรงเหมือนกับ WiFi แล้ว Z-Wave ใช้ระบบการเชื่อมต่อแบบ mesh ที่อุปกรณ์แต่ละตัว สามารถทำงานเป็นตัวถ่ายทอดสัญญาณได้ด้วย โดยระบบ Z-Wave สามารถถ่ายทอดสัญญาณได้สูงสุด 4 ทอดที่เพิ่มระยะการเชื่อมต่อและทำให้ติดตั้งระบบได้ง่ายขึ้นมาก เพราะถ้าอุปกรณ์ที่ติดตั้ง อยู่ห่างจากตัวควบคุมกลางจนไม่สามารถส่งสัญญาณไปถึงได้ ก็สามารถส่งสัญญาณไปยังตัวที่ใกล้สุดเพื่อให้ส่งต่อ ๆ กันไปได้

คุณสมบัติอีกข้อที่ทำให้ Z-Wave เป็นระบบที่เสถียรคือการที่ Z-Wave ถูกออกแบบให้ทุกครั้งที่มีการส่งคำสั่ง จะมีการส่งข้อมูลตรวจสอบความถูกต้อง (checksum) ตามไปด้วย ทำให้ตัวรับคำสั่ง สามารถตรวจสอบได้ว่าคำสั่งที่รับมา มีความถูกต้องหรือไม่ ถ้าพบว่ารับข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ก็จะยืนยันกลับไปยังอุปกรณ์ที่ส่งคำสั่งมาว่าได้รับคำสั่งเรียบร้อยแล้วซึ่งถ้าไม่ได้รับคำยืนยัน ก็จะส่งคำสั่งไปใหม่ ฯลฯ ซึ่งทำให้ระบบการสื่อสารของ Z-Wave เป็นระบบที่มีความเสถียรและความแน่นอนสูง

ประโยชน์จากระบบสมาร์ทโฮม

การเลือกระบบสมาร์ทโฮมและอุปกรณ์ที่นำมาใช้ จะขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอยที่ต้องการ โดยตัวอย่างประโยชน์การใช้งานหลักที่ได้รับความนิยม สามารถแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

11-26

ด้านแสงสว่าง

เป็นการกำหนดแสงสว่างในบ้านให้สอดคล้องกับการใช้งาน เช่นการเปิดไฟตอนกลางคืนโดยอัตโนมัติ แล้วปิดช่วงกลางวัน หรือเปิดไฟตอนกลางคืนเมื่อมีคนอยู่บริเวณนั้นและปิดเมื่อไม่มีคนอยู่ในพื้นที่ หรือปรับให้เหมาะกับสภาพใช้งาน เช่นปรับให้สว่างน้อยลงเมื่อต้องการดูทีวี ฯลฯ รวมไปถึงการให้เปิด/ปิดม่าน เช่นการให้ปิดม่านตอนกลางคืน แล้วเปิดในช่วงเช้า

ด้านความปลอดภัย

เป็นการให้ระบบเตือนเมื่อมีการบุกรุก โดยให้ระบบเตือนด้วยเสียงไซเรนหรือเตือนมายังสมาร์ทโฟนเมื่อมีการเปิดประตูหรือหน้าต่างแล้วไม่มีการปิดระบบด้วยการใช้สวิตช์แม่เหล็กที่จะทำงานเมื่อประตูหรือหน้าต่างถูกเปิด หรือเตือนเมื่อมีการเคลื่อนไว้ในบ้านในขณะที่เปิดระบบรักษาความปลอดภัยโดยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวในบ้านเพิ่ม

ด้านอุณหภูมิ

เช่นการควบคุมเครื่องปรับอากาศ ตั้งแต่การเปิด/ปิดเครื่องปรับอากาศตามเวลาใช้งานโดยอัตโนมัติ รวมไปถึงการกำหนดอุณหภูมิให้เหมาะสม เช่นกำหนดให้อุณหภูมิต่ำกว่าปกติในช่วงที่เพิ่งถึงบ้านเนื่องจากเป็นช่วงแรกที่มีการเคลื่อนไว้ แล้วค่อยปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้นกลางดึกเพราะช่วงหลับ ใช้พลังงานน้อย ปรับอุณหภูมิห้องให้เพิ่มขึ้นได้ และปิดเมื่อถึงเวลาที่ต้องออกจากบ้าน

11-27

การเปิด/ปิดประตู

ระบบเปิด/ปิดประตูที่ต่อเชื่อมเข้าระบบได้เป็นอีกเรื่องที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเพิ่มความสะดวกหลายเรื่อง เช่นทำให้รู้ว่าลูก/หลานมาถึงบ้านกี่โมง หรือให้เตือนมายังโทรศัพท์มือถือเมื่อถึงบ้าน การสั่งเปิดประตูจากนอกบ้านโดยไม่ต้องฝากกุญแจไว้ การสั่งเปลี่ยนรหัสประตูจากภายนอก หรือในกรณีประตูที่มีแป้นตัวเลขให้กด สามารถใช้กำหนดการทำงานตามรหัสต่าง ๆ ได้ เช่นการเปิดระบบรักษาความปลอดภัย การปิดระบบรักษาความปลอดภัย ฯลฯ

ด้านอุบัติภัย

เป็นการให้ระบบเตือนเมื่อมีอุบัติภัย เช่นกรณีท่อน้ำรั่ว/แตก สามารถติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับน้ำท่วมเพื่อเตือนทางสมาร์ทโฟนหรือแม้แต่ให้ปิดท่อน้ำได้ หรือเตือนเมื่ออุณหภูมิสูงกว่าที่กำหนดไว้ เตือนเมื่อมีควัน ฯลฯ

การควบคุมระบบให้ความบันเทิง

เช่นการควบคุมทีวี เครื่องเสียงในบ้าน ให้สอดคล้องกับการใช้งาน เช่นให้เปิดทีวีช่วงเช้าเพื่อฟังข่าวเมื่อตื่นนอน การเปิด/ปิดเพลงตามเวลาที่กำหนดไว้ ฯลฯ

 

บทความเกี่ยวกับสมาร์ทโฮมนี้ จะมีหลายตอน ท่านที่สนใจ สามารถติดตามบทความฉบับต่อไปในเล่มหน้า

สมชัย สิทธิชัยศรีชาติ

sis

บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
เลขที่ 9 อาคารภคินท์ ชั้นที่ 9 ห้องเลขที่ 901
ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
โทร. 0-2020-3000  แฟ็กซ์. 0-2020-3780
http://www3.sisthai.com