ความท้าทายในการจัดการ “เมืองอัจฉริยะ”

ภายใต้กระแสเทคโนโลยีที่ถาโถม

Share

Loading

ผลิตผลที่เกิดและกำลังเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในยุค IoT (Internet of Things) คือ Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ โดยหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อน เมืองอัจฉริยะ คือ ภาครัฐและเอกชนนั่นเอง

Smart City เป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองภายใต้กรอบความคิดที่มุ่งให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันทั่วโลกมีเมืองที่เดินตามแนวทางของ Smart City อยู่มากมาย ซึ่งในแต่ละเมืองก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่สิ่งที่เห็นเด่นชัด คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้เป็นเมืองที่มีความอัจฉริยะ เพื่อตอบโจทย์ในการดูแลและพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Best Practices สำหรับเมืองอัจฉริยะ

“The Smart City Playbook” หรือ คู่มือเมืองอัจฉริยะ เป็นรายงานกลยุทธ์ที่เก็บข้อมูลแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practices) สำหรับเมืองอัจฉริยะ รายงานนี้จัดทำในนามของโนเกีย โดยมาคิน่า รีเสิร์ช ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลทางการตลาดชั้นนำเรื่อง อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things: IoT) ได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์และความก้าวหน้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะโดยตรงจากทั้ง 22 เมือง รวมถึง กรุงเทพฯ โดยในรายงานดังกล่าวได้ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จของเมืองต่างๆ ในการทำให้เมืองมีความอัจฉริยะ ความปลอดภัย และความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น โดยได้สรุปแนวทางปฏิบัติบางประการที่เมืองอัจฉริยะที่ประสบความสำเร็จปฏิบัติคล้ายกัน ประกอบไปด้วย

– เมืองที่ประสบผลสำเร็จจะมีกฎระเบียบที่โปร่งใสในการใช้ฐานข้อมูลที่จำเป็นจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเปิดเผยสู่สาธารณชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือ มีค่าใช้จ่ายเพื่อรองรับกับกับค่าบริหารและการจัดการฐานข้อมูลก็ตาม
– ในหลายเมืองที่อยู่ในขั้นก้าวหน้า ผู้ใช้งานทั้งจากในและนอกภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสาร (ICT) และอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things : IoT) และเมืองเหล่านี้หลีกเลี่ยงการสร้างการแบ่งแยกระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐ
– รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ส่งเสริมให้ประชากรเข้ามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเมืองสู่เมืองอัจฉริยะมักจะประสบความสำเร็จมากกว่า โดยเฉพาะในส่วนที่สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน เช่น ที่จอดรถอัจฉริยะ และ แสงสว่างอัจฉริยะ
– โครงสร้างพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะจะต้องสามารถปรับขนาดได้ เพื่อที่จะสามารถเติบโตและรองรับความต้องการในอนาคต ทั้งยังมีความปลอดภัยสำหรับข้อมูลของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
– เมืองที่เลือกเทคโนโลยีที่สามารถเอื้ออำนวยในการสร้างนวัตกรรม และลงทุนในการจำลองประสบการณ์จริง รวมทั้งมีแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเปิด ที่ป้องกันการผูกขาด จะมีความได้เปรียบในการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ

Smart City ในบริบทประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย มีเมืองต้นแบบอยู่ 3 เมือง ที่ดำเนินตามแนวทางของ Smart City แล้ว นั่นคือ เมืองภูเก็ต เมืองขอนแก่น และเมืองเชียงใหม่ โดยแต่ละเมืองมีรูปแบบและแนวคิดในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

smart city phuket

“ภูเก็ต” เมืองต้นแบบด้านนวัตกรรม

Phuket Smart City เป็นเมืองต้นแบบด้านเทคโนโลยีที่มีความชัดเจนมากที่สุด โดยโครงการนี้เกิดจากความร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐอย่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร และภาคเอกชน ได้ร่วมกันผลักดันให้เมืองภูเก็ตเป็นเมืองอัจฉริยะ เป้าหมายสูงสุด คือ การสร้างความยั่งยืนให้เมือง โดยสร้างจุดแข็งใหม่ในการเป็นเมืองที่รองรับการลงทุนในธุรกิจดิจิทัล นอกเหนือจากการเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยได้เริ่มจัดทำโครงการนำร่อง Phuket Smart City เมืองน่าอยู่ 2 แห่ง ประกอบด้วย เขตเทศบาลเมืองป่าตอง และเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต ซึ่งควบคุมบริเวณพื้นที่ประมาณ 28.4 ตารางกิโลเมตร จากพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดภูเก็ต 540 ตารางกิโลเมตรในการดำเนินการโครงการ โดยเน้นใน 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย Smart Economy, Smart Living Community และ Smart Sensor ดังนี้
1. Smart Economy เน้นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่ 2 ขึ้นในจังหวัดภูเก็ต โดยจะมุ่งเน้นไปทางด้านเทคโนโลยี ทั้งการเป็นแหล่งรวมนักพัฒนา ในลักษณะของ Research Center หรือ Innovation Center และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหันมาใช้ Smart Technology ในการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจมากขึ้น
2. Smart Living Community ที่มีความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางน้ำ โดยมีการนำระบบ CCTV เข้ามาช่วยเฝ้าระวัง และทำงานร่วมกับโซลูชั่นตรวจจับใบหน้า เพื่อตรวจสอบและติดตามผู้กระทำผิด เพื่อส่งการแจ้งเตือนไปที่เจ้าหน้าที่ต่อไป
3. Smart Sensor นำเซนเซอร์ที่ผสมผสานเทคโนโลยี IoT ทำให้สามารถตรวจสอบสภาพอากาศ ตรวจเช็กสภาพของน้ำทะเล และตรวจสอบความผิดปกติ โดยเมื่อพบความผิดปกติ ระบบจะส่งข้อมูลกับมาที่ส่วนกลาง เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
ปัจจุบัน นอกเหนือไปจากการลงทุนภาครัฐในการพัฒนาโครงข่ายพื้นฐานประมาณ 200 ล้านบาทแล้ว เมืองภูเก็ตยังร่วมกับกลุ่มภาคเอกชนเป็นบริษัทพัฒนาเมือง เพื่อร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ตามแนวทางประชารัฐ ภายใต้ชื่อ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (PKCD) ที่มีบริษัทลูก 12 บริษัทที่ดูแลในด้านต่าง ๆ ภายใต้เป้าหมายใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. วางผังเมือง 2. จัดทำโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าและประปา 3. พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของโลก 4. พัฒนาภูเก็ตให้เป็นเมืองอัจฉริยะ

“ขอนแก่น” เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจอัจฉริยะ

เมืองขอนแก่นได้เริ่มต้นสร้างเมืองอัจฉริยะ จากแนวคิดที่แตกต่างจากเมืองภูเก็ต โดยกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญคือ ภาคเอกชน โดยกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่กว่า 20 บริษัท สละเงินลงขันกันว่า 30 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการริเริ่มเปลี่ยนแปลงเมืองขอนแก่นให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และน่าลงทุนที่สุด

กรอบในการพัฒนาเมืองของขอนแก่นนั้นเริ่มต้นจากความคิดในการวางผังเมืองที่เหมาะสม และพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่จังหวัด และใช้ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมือง และสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการ เช่น รถบัสโดยสารที่ติดตั้งระบบ GPS ที่สามารถรู้กำหนดเวลาวิ่ง และระยะเวลาในการเข้าจอดในจุดรับส่งผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นต้น

“เชียงใหม่” เมืองท่องเที่ยวและเกษตรอัจฉริยะ

ในส่วนการดำเนินโครงการ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ก็จะแตกต่างออกไปจากจังหวัดอื่นเช่นกัน โดยเชียงใหม่มีวิสัยทัศน์ที่ว่า ทำอย่างไรให้ Digital Economy มีประโยชน์ต่อภาคประชาชน นักท่องเที่ยวหรือคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่จะเน้น 5 ยุทธศาสตร์ ตามแนวคิดว่า ทำอย่างไรให้กินดี อยู่ดี มีสุข ซึ่งการกินดีที่ว่านั้น ต้องทำให้เป็น Smart Economy, Smart Tourism และ Smart Agriculture

ส่วนการอยู่ดี คือ Smart Living เมืองต้องน่าอยู่ปลอดภัย จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ต่อมาคือมีสุข Smart Environment นี่คือ สามยุทธศาสตร์หลัก และมีอีกสองยุทธศาสตร์เสริม คือ Smart Governance การนำข้อมูลบิ๊กดาต้าจากภาครัฐ มาใช้บนแพลทฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น ๆ และเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ และสุดท้าย คือ Smart Education การพัฒนาทางด้านการศึกษา การได้รับความรู้ในรูปแบบใหม่ ๆ
ในส่วนของ Smart Tourism นั้น ได้มีการดำเนินโครงการพัฒนาแพลทฟอร์มที่มีชื่อว่า Chiang Mai I Love U เป็นแพลทฟอร์มที่จะช่วยนักท่องเที่ยวในการค้นหาเส้นทางท่องเที่ยงด้วยตนเอง โดยตัวแพลทฟอร์มนี้ ก็จะบอกเส้นทาง วิธีการเดินทาง รวมไปถึงการแนะนำร้านค้า โรงแรม สถานที่สำคัญที่น่าสนใจต่าง ๆ ผ่านการปักหมุดจากผู้ประกอบการในพื้นที่

ด้านการพัฒนา Smart Agriculture จะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับทำนายการเพาะปลูกและการเกษตร หรือที่เรียกว่า Smart Farming การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตรจะเริ่มตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยโดยจะรู้ได้ทันทีว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมจะปลูกอะไร สภาพตรงนี้เป็นเช่นไร จากนั้นการทำเกษตรก็จะมีการคำนวณสภาพดิน น้ำ การให้อาหาร สภาพอากาศ การควบคุมโรค ดังที่ว่า Farm to fork คือจะกินอะไรเราก็จะรู้ได้ทันทีอาหารนั้นมีที่มาอย่างไร เนื้อสัตว์เหล่านั้นเลี้ยงด้วยอะไร มีสารพิษหรือไม่ อย่างไรก็ดีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการเกษตรยังมีข้อดี ในเรื่องของการคำนวณผลผลิตที่จะออกมาได้ ทำให้ราคาผลผลิตไม่ต้องตกลงเหมือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ที่เชียงใหม่ยังได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน โดยที่ผ่านมาปัญหาหมอกควันเกิดขึ้นจากการเกิดไฟไหม้ป่า ซึ่งแต่เดิมจะไม่รู้ว่ามีไฟไหม้เกิดขึ้นจนกว่าจะไหม้มาจนถึงบริเวณที่มองเห็นชัดเจน หรือไหม้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้สามารถเตรียมความพร้อมรับมือได้ทัน

แม้การดำเนินโครงการ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ ยังเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตามเชียงใหม่ยังคงต้องเผชิญความท้าทายไม่ต่างจากจังหวัดภูเก็ต ขอนแก่น และอาจจะรวมไปถึงปัญหาเรื่องการดำเนินวิถีชีวิต และการมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง แต่เชื่อได้ว่าหากมีการจัดการที่ดีในการพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็น Smart City แต่ยังคงไว้ด้วยเอกลักษณ์เดิมจะทำให้คนในพื้นที่ยอมรับ และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนสืบต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.sipa.or.th